แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพิจารณาคำฟ้องรวมกันทั้งฉบับแล้วพอเข้าใจได้ว่า ขณะฟ้องคดี จ. ถึงแก่กรรมแล้ว และผู้จัดการมรดกของ จ. ไม่ยอมดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ จ. และ น. บริจาคให้เป็นถนนรับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กรมโยธาธิการและจังหวัดธนบุรีมิได้ใช้ที่ดินพิพาทตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงกลับมาเป็นของ จ. และ น. ตั้งแต่ก่อนที่ จ. จะถึงแก่กรรม ธ. บุตรของ จ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ จ. จึงต้องฟ้องคดีนี้ ถือได้ว่า ธ. ฟ้องคดีเองในฐานะทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกย่อมฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องให้ผู้จัดการมรดกของ จ. เป็นผู้ฟ้อง
การที่มีผู้จัดการมรดกอยู่ไม่ทำให้สิทธิของทายาทที่จะดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกเสียไป
โจทก์และจำเลยต่างฎีกาและแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยใหม่ ประกอบกับคดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบกันไว้เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีให้เสร็จเด็ดขาดโดยไม่ย้อนสำนวน
จ. ได้อุทิศส่วนของตนในที่ดินพิพาทยกให้เป็นถนนสาธารณะและได้จดทะเบียนยกให้แล้ว ที่ดินพิพาทส่วนของ จ. ดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่บันทึกไว้ในรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินว่า แบ่งให้เป็นถนนเจริญนคร ต้องถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) และตามมาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา สภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ แม้กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 จะมิได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่ขอบริจาคและ จ. ได้กลับเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้วนานเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกไปเป็นของ จ. ได้อีก เพราะตามมาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ จ. เจ้ามรดกได้ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณะแล้ว ถึงหากจะเป็นโมฆียะอย่างใดก็ไม่อาจบอกล้างได้ ตามมาตรา 181 ที่ดินพิพาทยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามหยุดการรื้อถอนอาคารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งมีราคาประมาณ ๒๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท กลับคืนให้เป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า นายธนัญชัย จิวาลักษณ์เป็นบุตรคนหนึ่งในสองคนที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางจิ้มลิ้ม เมื่อนางจิ้มลิ้มถึงแก่กรรม มรดกย่อมตกได้แก่ทายาท นายธนัญชัยจึงเป็นเจ้าของในส่วนที่ควรจะได้และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ทายาทฟ้อง เมื่อผู้จัดการมรดกไม่ยอมฟ้อง นายธนัญชัยในฐานะทายาทย่อมฟ้องเองได้ ส่วนจำเลยทั้งสามแก้ฎีกาว่า ขณะฟ้องนางจิ้มลิ้มได้ถึงแก่กรรมไปหลายสิบปีแล้วไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ ทั้งนายธนัญชัยไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือฟ้องแทนทายาทผู้มีส่วนได้เสียอื่นจึงไม่อาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องรวมกันทั้งฉบับแล้วพอเข้าใจได้ว่า ขณะฟ้องคดีนี้นางจิ้มลิ้มถึงแก่กรรมแล้ว และนางเสริมทรัพย์ผู้จัดการมรดกของนางจิ้มลิ้มไม่ยอมดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่นางจิ้มลิ้มและนายน้อย อุดมจรรยา บริจาคให้เป็นถนนรับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กรมโยธาธิการและจังหวัดธนบุรีมิได้ใช้ที่ดินพิพาทตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงกลับมาเป็นของนางจิ้มลิ้มและนายน้อยตั้งแต่ก่อนที่นางจิ้มลิ้มจะถึงแก่กรรม นายธนัญชัยบุตรของนางจิ้มลิ้มซึ่งเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางจิ้มลิ้มจึงต้องฟ้องคดีนี้ ถือได้ว่านายธนัญชัยฟ้องคดีนี้เองในฐานะทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางจิ้มลิ้ม ย่อมฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องให้ผู้จัดการมรดกของนางจิ้มลิ้มเป็นผู้ฟ้อง การที่มีผู้จัดการมรดกอยู่ไม่ทำให้สิทธิของทายาทที่จะดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกเสียไป ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าขณะฟ้องโจทก์คือนางจิ้มลิ้มได้ถึงแก่กรรม ไม่มีสภาพเป็นบุคคลจึงไม่อาจฟ้องคดีได้ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อำนาจหน้าที่ในการฟ้องเรียกที่ดินคืนเข้ากองมรดกของนางจิ้มลิ้มเป็นของนางเสริมทรัพย์ผู้จัดการมรดกของนางจิ้มลิ้ม นายธนัญชัยจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างฎีกาและแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยใหม่ ประกอบกับคดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบกันไว้เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นสมควรวินิจฉัยคดีให้เสร็จเด็ดขาด โดยไม่ย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่ดินพิพาทพ้นจากสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับมาเป็นของโจทก์แล้วหรือไม่ เห็นว่า นางจิ้มลิ้มได้อุทิศส่วนของตนในที่ดินพิพาทยกให้เป็นถนนสาธารณะและได้จดทะเบียนยกให้แล้ว ที่ดินพิพาทส่วนของนางจิ้มลิ้มดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังปรากฏตามที่บันทึกไว้ในรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินว่า แบ่งให้เป็นถนนเจริญนคร ต้องถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) และตามมาตรา ๑๓๐๕ ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา สภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ แม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่ขอบริจาค และนางจิ้มลิ้มได้กลับเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้วนานเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกไปเป็นของนางจิ้มลิ้มได้อีก เพราะตามมาตรา ๑๓๐๖ ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องล่วงพ้นเวลาสิบปี นับแต่นางจิ้มลิ้มได้ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณะแล้ว ถึงหากจะเป็นโมฆียะอย่างใดก็ไม่อาจบอกล้างได้ ตามมาตรา ๑๘๑ ที่ดินพิพาทยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.