คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2004/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เงินค่าครองชีพซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายแก่ลูกจ้างเป็น รายเดือนจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างก็ตาม แต่เมื่อการที่นายจ้างตกลงจะจ่ายเงินค่าครองชีพแก่ลูกจ้างเกิดจาก ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่ใช่จ่ายตามข้อผูกพัน หรือ สัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิม ดังนั้น การจ่ายเงินค่าครองชีพ จำต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง
เมื่อคดีไม่มีประเด็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขัดต่อกฎหมายหรือมีผลใช้บังคับหรือไม่ การที่คู่ความ อุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์นอกประเด็น แม้จะเป็นปัญหา อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลฎีกาเห็น ไม่สมควรจะยกขึ้นวินิจฉัย ก็ไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนจำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้มาทำงานในแต่ละเดือนเกิน 3 วัน เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างคลาดเคลื่อนจำเลยไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าครองชีพ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เดิมจำเลยไม่ได้จ่ายเงินค่าครองชีพแก่ลูกจ้าง ต่อมาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง ในที่สุดจึงตกลงทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าครองชีพภายใต้เงื่อนไขซึ่งกำหนดไว้ว่า พนักงานผู้มีสิทธิได้รับค่าครองชีพที่ไม่ได้มาทำงานตามวันทำงานปกติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วันใน 1 เดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าครองชีพสำหรับเดือนนั้น ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้เงินค่าครองชีพซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ซึ่งกรณีลูกจ้างลาป่วยนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน 33 ก็ตาม แต่การที่จำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างหรือโจทก์คดีนี้เกิดจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ใช่จ่ายตามข้อผูกพันหรือสัญญาจ้างแรงงานที่มีเดิมแล้ว ดังนั้น การจ่ายเงินค่าครองชีพจำต้องอยู่ภายใต้บังคับของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไไขในการจ่ายเงินค่าครองชีพไว้ว่า “พนักงานผู้มีสิทธิได้รับค่าครองชีพคนใดที่ไม่ได้มาทำงานตามวันปฏิบัติงานปกติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน ใน 1 เดือน พนักงานผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพทั้งหมดสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่พนักงานที่ป่วยเนื่องมาจากการทำงานและแพทย์ของสถานพยาบาลที่บริษัทกำหนดไว้แจ้งให้พักได้” เมื่อโจทก์ไม่ได้มาทำงานประจำเดือนตามฟ้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน ใน 1 เดือน และเหตุที่ไม่ได้มาทำงาน ไม่ใช่กรณีเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าครองชีพ

ข้อที่โจทก์ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ไม่มีผลบังคับเห็นว่าคดีไม่มีประเด็นที่โต้เถียงกันว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขัดต่อกฎหมายหรือมีผลใช้บังคับหรือไม่ เป็นอุทธรณ์นอกประเด็น แม้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ไม่สมควรจะยกขึ้นวินิจฉัย จึงไม่วินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share