คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มิได้จำกัดสิทธิผู้เป็นเจ้าของร่วมมิให้ร้องขอคืนทรัพย์ที่ตนเป็นเจ้าของร่วมที่ศาลสั่งริบ เจ้าของร่วมที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จึงมีสิทธิร้องขอคืนทรัพย์ที่ศาลสั่งริบในส่วนที่เป็นของตนได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร ลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และริบของกลางรวมทั้งรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-3012 อ่างทอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1ยืมรถยนต์ของกลางไปใช้ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1เป็นสามีภริยากันแต่รถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลางขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางร่วมกันผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ในคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมายร.3 จะมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงบันทึกแสดงการจดทะเบียนของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับรายละเอียดของรถเท่านั้นหาใช่หลักฐานแสดงว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถนั้นไม่ เมื่อรถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1ซื้อมาภายหลังสมรสด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสส่วนหนึ่งและเงินที่มารดาผู้ร้องออกให้โดยมิได้ระบุว่าออกให้แทนใครอีกส่วนหนึ่งรถยนต์ของกลางจึงเป็นสินสมรสที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกันคนละครึ่งมิใช่ของผู้ร้องเพียงผู้เดียว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิขอให้คืนรถยนต์ของกลางนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มิได้จำกัดสิทธิผู้เป็นเจ้าของร่วมที่ศาลสั่งริบ เจ้าของร่วมที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยใจการกระทำผิด จึงมีสิทธิร้องขอคืนทรัพย์ที่ศาลสั่งริบในส่วนที่เป็นของตนได้และเมื่อพิจารณาจากคำพยานผู้ร้องประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดี ย่อมมีเหตุให้เชื่อว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ต้องริบเพียงกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งต้องคืนให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องกึ่งหนึ่งนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share