แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแพ่งซึ่งถ้าเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า บิดาจำเลยผู้ทำสัญญามัดจำขายที่ดินให้โจทก์ได้ตายแล้ว จำเลยได้ยอมรับปฎิบัติตามสัญญามัดจำจะโอนให้โจทก์ทั้งยอมให้โจทก์ครอบครองที่ดินนั้นจนบัดนี้ ดังนี้ ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหากศาลชั้นต้นงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสียและวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2481 ค. โจทก์ที่ 1 จ. และ ผ. ได้จำนองที่ดินไว้กับโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาโจทก์เป็นเงิน 1,100 บาท แล้ว จ. ทำสัญญามัดจำขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนเป็นราคา 450 บาท โจทก์ชำระมัดจำไปแล้ว 80 บาท จ. ได้ตกลงให้หักหนี้จำนองเฉพาะส่วนของ จ. หักใช้เป็นราคาที่ดินด้วย และโจทก์กล่าวในฟ้องตอนท้ายว่า “ต่อมา จ. ตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรยอมรับจะปฏิบัติตามสัญญามัดจำโดยจะโอนนารายนี้ ที่ จ. ขายให้นั้นให้แก่โจทก์ ทั้งยอมให้โจทก์เข้าครอบครองและทำนาต่อมาจนทุกวันนี้ ซึ่งโจทก์มิได้ละเว้นเพิกเฉยการเรียกร้องมาแต่ต้นเลย คงติดต่อทวงถามและจำเลยก็รับคำเสมอมา” จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะและตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะ จ. ตายกว่า 1 ปี
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน และเห็นว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนใดคนหนึ่งอาจจำหน่ายส่วนของตนได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคต้น แต่ปรากฏว่า จ. ตายมา 7-8 ปี แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรค 3 ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรค 3 นั้น ตามฟ้องเดิมและฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีประเด็นว่าจำเลยลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องสืบ แต่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเสียทั้ง 2 ฝ่ายเสีย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา ในชั้นฎีกามีปัญหาแต่เฉพาะเรื่องอายุความ
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวยืนยันในฟ้องตอนท้าย ก็เรียกได้ว่าจำเลยรับสภาพต่อโจทก์ ผู้เป็นเจ้าหนี้อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน