แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทำงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ได้รับการต่ออายุสัญญา 2 ครั้ง ระยะเวลาที่ต่ออายุดังกล่าวต่างครบกำหนดก่อนวันที่โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้าย แม้การต่ออายุสัญญาดังกล่าวจะทำให้อายุของสัญญายืดออกไป แต่ก็หาได้มีผลกระทบต่อการนับอายุความ ไม่ เพราะสิทธิเรียกร้องสินจ้างในการก่อสร้างนั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบงานกันมิใช่นับตั้งแต่วันที่ทำงานเสร็จ เงินค่าปรับที่โจทก์ได้รับคืนไปจากจำเลยที่ 1 เกิดจากจำเลย ที่ 1หักค่าจ้างไว้เป็นค่าปรับเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้าง กำหนดเบี้ยปรับไว้เมื่อโจทก์ผิดสัญญาส่งมอบงานล่าช้าจึงถูก จำเลยที่ 1 ปรับ ต่อมาภายหลังโจทก์ขอต่ออายุสัญญาอีก แต่ไม่ได้ รับการต่อให้ คงได้รับเงินส่วนลดค่าปรับตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้นการคืนค่าปรับให้ซึ่งจำเลยไม่มีหน้าที่และไม่ใช่การชำระค่าจ้าง โจทก์ตามสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 อัน จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างและเงินค่าจ้างขุดคูน้ำโดยอ้างว่าคณะกรรมการควบคุมงานของจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้โจทก์ ขุดเพิ่มขึ้นจากงานตามสัญญาเป็นเวลาเกิน 2 ปีนับแต่วันที่มีการ ส่งมอบและรับมอบงานกัน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา165(1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าจ้าง23,464,269.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์การพิจารณาขยายระยะเวลาไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่เป็นของปลัดกระทรวงกลาโหมทั้งจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์จึงไม่ผูกพันให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด เงินที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าจ้างจำนวน 15,744,269.72 บาท และค่าจ้างขุดคูน้ำ 7,720,000 บาทที่โจทก์เรียกร้องมานั้น ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ระหว่างการไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาประการแรกมีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทำงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญา โจทก์ได้ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ควบคุมงานให้มาตรวจสอบผลงานงวดที่ 10 (งวดสุดท้าย)เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.16 และได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างขอให้มาทำการตรวจรับมอบงานงวดที่ 10 (งวดสุดท้าย) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.17 และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ไปทำการตรวจรับมอบงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.18 โดยสรุปในท้ายเอกสารดังกล่าวว่า งานเสร็จเรียบร้อยตามรูปแบบและรายการแล้วทั้งต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2524 โจทก์ยังได้มีหนังสือถึงเจ้ากรมช่างโยธาทหารอากาศขอเบิกเงินค่าจ้างงานงวดที่ 10(งวดสุดท้าย) จำนวน 12,412,494 บาท โดยระบุว่างานงวดดังกล่าวโจทก์ได้ทำเสร็จเรียบร้อยและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ทำการตรวจรับเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.19 อีกด้วย ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ยอมรับแล้วว่างานได้เสร็จเรียบร้อยและได้มีการส่งมอบงานกันแล้วในวันดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีการส่งมอบงานกันในวันที่ 10 มิถุนายน2524 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ต่ออายุสัญญาครั้งแรก 127 วันเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2523 ลดค่าปรับและคืนค่าปรับบางส่วนให้โจทก์ และต่ออายุสัญญาให้โจทก์อีก 16 วัน ตามเอกสารหมาย จ.22มีผลเท่ากับจำเลยยอมรับสภาพสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยอายุความตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2524 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการต่ออายุสัญญาตามเอกสารหมาย จ.22 นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์2523 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2523 ก็ดี และการต่ออายุสัญญาอีก 127 วันนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2523 เป็นต้นไปก็ดี ระยะเวลาที่ต่ออายุสัญญาดังกล่าวต่างครบกำหนดก่อนวันที่โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้าย(วันที่ 10 มิถุนายน 2524) แล้ว ดังนั้น แม้ว่าการต่ออายุสัญญาดังกล่าวจะทำให้อายุของสัญญายืดออกไป แต่ก็หาได้มีผลกระทบต่อการนับอายุความแต่อย่างใดไม่ เพราะสิทธิเรียกร้องสินจ้างในการก่อสร้างนั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบงานกันหาใช่นับตั้งแต่วันที่ทำงานเสร็จไม่ ส่วนเงินค่าปรับที่โจทก์ได้รับคืนไปจากจำเลยที่ 1 นั้น เกิดจากจำเลยที่ 1 หักค่าจ้างไว้เป็นค่าปรับเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างกำหนดเบี้ยปรับไว้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาส่งมอบงานล่าช้าจึงถูกจำเลยที่ 1 ปรับ ต่อมาภายหลังโจทก์ขอต่ออายุสัญญาอีกแต่ไม่ได้รับการต่อให้ คงได้รับเงินส่วนลดค่าปรับตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น การคืนค่าปรับให้ ซึ่งจำเลยไม่มีหน้าที่และไม่ใช่การชำระค่าจ้างโจทก์ตามสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์มาฟ้องเรียกเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างและเงินค่าจ้างขุดคูน้ำโดยอ้างว่าคณะกรรมการควบคุมงานของจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้โจทก์ขุดเพิ่มขึ้นจากงานตามสัญญาจ้างในวันที่ 29 มิถุนายน 2526 เป็นเวลาเกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2524 ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งและรับมอบงานกันคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา165(1) ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อต่อไปของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.