แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอาเงินเขาไปแล้วมอบทองรูปพรรณให้ไว้เป็นประกันนั้นแม้การมอบทองรูปพรรณให้ไว้จะเป็นจำนำ ซึ่งอาจบังคับกันได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ดีแต่ถ้าได้บังคับจำนำกันแล้ว ได้เงินไม่พอชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจึงต้องมาฟ้องร้องขอให้บังคับชำระเงินที่ยังขาดอยู่แล้วก็เท่ากับฟ้องร้องให้ชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไปนั่นเองถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญแล้วก็จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2496)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำสิ่งของทองรูปพรรณมาจำนำไว้แก่โจทก์ แล้วบ่ายเบี่ยงไม่ชำระเงิน จนโจทก์ต้องขายทอดตลาดทองรูปพรรณของจำเลยที่จำนำไว้ เพื่อชดใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย ได้เงิน 3,820 บาท เงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระเป็นเงิน 5,936 บาทหักแล้วจำเลยยังต้องชำระให้โจทก์อีก1,180 บาท ดอกเบี้ย 936 บาท66 สตางค์ จำเลยเพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่ค้างแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่จำเลยเอาทองรูปพรรณมาจำนำรับเอาเงินของโจทก์ไปนั้น เป็นนิติกรรม 2 นิติกรรมควบกันไป คือนิติกรรมกู้ยืม กับนิติกรรมค้ำประกันหนี้ด้วยสังหาริมทรัพย์ เรียงตามกฎหมายว่า จำนำ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินที่ยังขาดในคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมบางส่วน เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ฟ้องร้องไม่ได้ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สำหรับกรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยเอาเงินของโจทก์ไป 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท 25 สตางค์ มอบทองรูปพรรณ 9 สิ่งไว้เป็นประกัน ฉะนั้นแม้การมอบทองรูปพรรณให้ไว้จะเป็นจำนำซึ่งอาจบังคับกันได้โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ดี แต่เมื่อโจทก์บังคับจำนำนั้นไปแล้ว การที่จะมาฟ้องร้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินที่ยังขาดอยู่ ก็เท่ากับฟ้องร้องขอให้ชำระหนี้เงินที่กู้ยืมกันไป นั่นเอง มูลหนี้ในเรื่องการกู้ยืมเงินนั้น มาตรา 653 บังคับไว้ว่าเมื่อกว่า 50 บาทขึ้นไปถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่การฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นลูกหนี้เงินกู้ไม่ใช่ฟ้องในฐานะผู้จำนำ เพราะการจำนำได้สิ้นสุดแล้วด้วยการบังคับดังกล่าวแล้ว สิทธิฟ้องของโจทก์จึงหามีไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน