คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1430/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้อง ฉ.จำเลยฐานแจ้งความเท็จว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์ของฉ. ศาลตัดสินยกฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องแก้เกี้ยวข้อหาของโจทก์ฟังไม่ได้ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้หาว่า ฉ. จำเลยจงใจแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จ ดังนี้ เมื่อศาลได้ชี้ขาดในคดีก่อนแล้วว่า ฉ. ไม่ได้แจ้งความเท็จในคดีนี้ ก็ต้องฟังว่า ฉ. ไม่ได้แจ้งความเท็จ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดในการที่จำเลยเบิกความ แต่ตามฟ้องไม่อาจทราบได้ว่าที่จำเลยเบิกความไปนั้นเป็นการเบิกความเท็จ หรือการเบิกความเช่นนั้นเป็นไปโดยเลินเล่อ เพราะถึงแม้จำเลยจะเบิกความไม่ถูกต้องกับความจริง ก็มีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจผิดเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ฉะนั้นฟ้องโจทก์จึงยังไม่เป็นฟ้องที่จะให้จำเลยต้องรับผิดฐานละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โดยกล่าวว่า นางฉิ้งจำเลยนำเอาความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า โจทก์ยักยอกเงินของจำเลย 1 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ถูกจับและต้องขัง 2 วัน และนางฉิ้งกับนายสักจำเลยจงใจเบิกความชั้นสอบสวนและชั้นศาลว่าโจทก์ทำผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด จำเลยปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำผิดฐานละเมิด ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกับคดีดำที่ 159/2490, 161/2490 ซึ่งนางฉิ้งกับพลตำรวจเจิมเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับนายเฉยเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้ง 3 สำนวน

โจทก์ในคดีนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์แยกข้อหาเป็น 2 ข้อว่านางฉิ้งจำเลยจงใจแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ทำให้โจทก์เสื่อมเสียอิสระภาพ ข้อ 1. และว่าจำเลยทั้งสองจงใจเบิกความเท็จชั้นสอบสวนและชั้นศาลว่า โจทก์ทำผิดและยักยอกทรัพย์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายอีกข้อ 1. เฉพาะข้อแรก โจทก์ฟ้องคดีอาญาแดงที่ 109/2489 ขอให้ลงโทษนางฉิ้งจำเลยกับพลตำรวจเจิมฐานวิ่งราวทรัพย์ ฯลฯ ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์ฟ้องแก้เกี้ยวข้อหาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีนี้ก็ต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้นว่านางฉิ้งไม่ได้แจ้งความเท็จ ทำให้เสื่อมเสียอิสระภาพ ฟ้องโจทก์ข้อ 1. จึงตกไป ส่วนข้อหาว่าเบิกความเท็จตามฟ้องไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยเบิกความไปนั้นเป็นการเบิกความเท็จหรือการเบิกความเช่นนั้นเป็นไปโดยเลินเล่อ เพราะถึงแม้จำเลยจะเบิกความไม่ถูกต้องตรงกันกับความจริง ก็อาจมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจผิดเช่นนั้นได้ซึ่งไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฉะนั้นฟ้องของโจทก์จึงยังไม่เป็นฟ้องที่จะให้จำเลยต้องรับผิดฐานละเมิด

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น

Share