แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายความของบริษัทโจทก์เป็นผู้ลงนามเป็นโจทก์ในคำฟ้อง แต่ใบแต่งทนายความลงนามโดยผู้ไม่มีอำนาจตามที่จะทะเบียนไว้ จำเลยยื่นคำให้การคัดค้านอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว ครั้นสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเสร็จ โจทก์ได้ยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ลงนามกรรมการ 2 นาย และประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจสั่งใบรับใบแต่งทนายความใหม่ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 และเนื่องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ภายในเมื่อใด ศาลจึงสั่งรับใบแต่งทนายความใหม่ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วนั้นก็ได้ ทั้งการที่มาตรานี้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสอบสวนถึงอำนาจฟ้องได้ ก็ย่อมเป็นเวลาภายหลังยื่นฟ้องแล้ว เมื่อศาลเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรืออำนาจฟ้องบกพร่อง แต่ศาลไม่ใช่อำนาจยกฟ้องโดยสั่งให้โจทก์แก้ไขอำนาจฟ้องให้สมบูรณ์หรือยอมรับการแก้ไขอำนาจฟ้องให้สมบูรณ์ ก็ย่อมทำให้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก เพราะมิฉะนั้นแล้วก็เท่ากับให้ศาลใช้อำนาจยกฟ้องอย่างเดียว ถ้อยคำที่ว่า “หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ก็จะไม่มีความหมายอะไรไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด กรรมการสองนายลงนามร่วมกันประทับตราสำคัญของบริษัทจึงจะผูกพันบริษัท จำเลยที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จำเลยที่ ๓ ได้ซื้อกรดกำมะถันในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้รับกรดกำมะถันจากโจทก์ไปใช้ในกิจการของห้างหุ้นสวนครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ ๓ ได้สั่งจ่ายเช็คชำระราคา ครั้นถึงกำหนดวันที่สั่งจ่ายในเช็ค โจทก์ได้นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์แต่เรียกเก็บไม่ได้ โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลย จำเลยที่ ๓ รับหนังสือนั้น แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ยอมรับ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ซื้อ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในฐานะผู้จัดการ และจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คและรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ แต่สอดเข้าดำเนินกิจการของห้าง ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า สำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนท้ายฟ้อง ได้รับรองไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๑๓ บัดนี้ อำนาจการลงชื่อของกรรมการบริษัทโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่ากรรมการสองนายร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษํทจึงผูกพันบริษัทไม่เป็นความจริง จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวไม่เคยซื้อกรดกำมะถันจากโจทก์ตามจำนวนเงินจำนวนสิ่งของที่โจทก์ฟ้องเลย จำเลยที่ ๑ไม่เคยได้รับกรดกำมะถันจากจำเลยที่ ๓ หรือจากโจทก์ ทั้งจำเลยที่ ๑ มิได้นำกรดกำมะถันของโจรมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ ๑ ด้วย จำเลยที่ ๓ ซื้อกรดกำมะถันจากโจทก์เป็นส่วนตัวและนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๑และที่ ๒ ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และโจทก์ก็ไม่เคยทวงถามให้ชำระหนี้ด้วย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำสืบก่อนเสร็จแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องว่า กรรมการ ๒ นาย ผู้ลงนามแต่งตั้งทนายความในใบแต่งทนายความ ไม่ตรงตามอำนาจกรรมการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์โดยความสำคัญผิด ขอยื่นใบแต่งทนายความใหม่ให้ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งรับใบแต่งทนายความฉบับสองไว้ แต่ใบแต่งทนายความนี้ทนายความไม่ได้ลงนามรับเป็นทนายความ จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ยื่นคำแถลงว่าใบแต่งทนายความฉบับหลังใช้ไม่ได้ตามกฎหมายเพราะทนายความไม่ได้ลงนามในใบแต่งทนายความ โจทก์ยื่นคำร้องอีกว่าใบแต่งทนายความฉบับที่สองบกพร่องโดยทนายความไม่ได้ลงชื่อเป็นทนายความ ขอยื่นใบแต่งทนายความใหม่ให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความฉบับที่สามไว้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ใบแต่งทนายความของโจทก์ฉบับแรกไม่ถูกต้องตามบังคับของบริษัทโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ แต่เมื่อโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องโดยการยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ จึงผูกพันบริษัทโจทก์ อำนาจฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น จำเลยที่ ๓ ซื้อกรดกำมะถันจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ ๑ แล้วค้างชำระเงิน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้รายนี้ จำเลยที่ ๓ แม้จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่จำเลยที่ ๓ สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดด้วยโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๘๘ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกาว่าใบแต่งทนายความเมื่อยื่นฟ้องลงนามโดยผู้ไม่มีอำนาจตามที่ได้จดทะเบียนไว้ คำฟ้องที่ทนายความลงชื่อเป็นโจทก์จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก แม้ต่อมาได้มีการแต่งตั้งทนายความคนนั้นใหม่โดยกรรมการ ๒ นาย ผู้มีอำนาจลงชื่อในใบแต่งตั้งและประทับตราสำคัญของบริษัทเป็นการถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ก็ไม่ทำให้คำฟ้องกลับเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ ทั้งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องไว้แล้ว โจทก์ไม่จัดการแก้ไขจนกระทั่งสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจึงขอแก้ไข ไม่ชอบที่ศาลจะยกมาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งขึ้นให้เป็นผลดีฝ่ายเดียวโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น มาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลที่จะสอบสวนถึงอำนาจของผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของตัวความ หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลได้เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในขณะที่ยื่นฟ้องหรือคำให้การ ถ้าเป็นที่พอใจว่าผู้นั้นไม่มีอำนาจหรืออำนาจของผู้นั้นบกพร่อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีนั้น หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อจำเลยคัดค้านอำนาจฟ้องของโจทก์มาในคำให้การว่าใบแต่งทนายมิได้ลงชื่อโดยผู้มีอำนาจตามที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ยื่นใบแต่งทนายความใหม่ลงชื่อกรรมการ ๒ นาย และประทับตราสำคัญของบริษัทของบริษัทโจทก์ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ศาลชั้นต้นสั่งรับใบแต่งทนายความใหม่ซึ่งเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งรับเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเนื่องด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ภายในเมื่อใด ศาลชั้นต้นสั่งรับใบแต่งทนายความใหม่ภายหลังสืบพยานไว้โจทก์เสร็จแล้วจึงมีอำนาจที่จะสั่งรับเช่นนั้นได้ เมื่อสั่งรับแล้วจะทำให้อำนาจฟ้องซึ่งเดิมไม่สมบูรณ์กลับสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรกหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่มาตรา ๖๖ แห่งประมวลกำหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสอบสวนถึงอำนาจฟ้องได้นั้นก็ย่อมเป็นเวลาภายหลังที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรืออำนาจฟ้องของโจทก์บกพร่อง เมื่อศาลไม่ใช่อำนาจยกฟ้อง แต่สั่งให้โจทก์แก้ไขอำนาจฟ้องให้สมบูรณ์หรือยอมรับการแก้ไขอำนาจฟ้องให้สมบูรณ์ ก็ย่อมทำให้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์กลับเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก เพราะมิฉะนั้นแล้วก็เท่ากับให้ศาลใช้อำนาจยกฟ้อง และถ้อยคำที่ว่า “หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ในมาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็ไม่มีความหมายอะไร และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๓ ได้ซื้อกรดกำมะถันจากโจทก์แทนจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้รับกรดกำมะถันไปใช้ในกิจการค้าของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ออกเช็คชำระราคาค่ากรดกำมะถัน แต่โจทก์รับเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชำระให้โจทก์
พิพากษายืน
(ล้วน นิลกำแหง วิทูร เทพพิทักษ์ มงคล วัลยะเพ็ชร์)