คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแขวง ในฐานความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กับมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายซึ่งขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และเป็นโจทก์ในคดีนี้ เงินจำนวนตามคำขอดังกล่าวเป็นรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้โดยโจทก์ยื่นฟ้องในระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำขอบังคับของโจทก์ในคดีนี้กับคำขอส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว เป็นเรื่องเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว อันต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทำหน้าที่ผู้จัดการของโจทก์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายในวงเงิน 150,000 บาท โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 8825 จำนองเป็นประกัน ระหว่างทำหน้าที่ผู้จัดการ จำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ขาดการปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันประมาณสองสัปดาห์โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พ้นจากตำแหน่งและตรวจสอบพบว่าสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 สูญหายไป 15 รายการรวมเป็นเงิน 1,021,917 บาท โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงนครสวรรค์ฟ้องในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เมื่อวันที่10 ตุลาคม 2528 โจทก์เสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยเป็นเงิน 146,900.60บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ในวงเงิน150,000 บาท จำเลยที่ 2 ก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน1,168,817.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,021,917 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนในวงเงิน 150,000 บาท ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่8825 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องที่ศาลแขวงนครสวรรค์ข้อหายักยอกทรัพย์ ศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด แต่ไม่ได้ฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหรือสัญญาจำนองเพื่อประกันความเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการทำหน้าที่ผู้จัดการ หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหรือจำนองประกันจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ประกันในฐานะผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการ ทำหน้าที่ผู้จัดการ และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าโจทก์ตั้งให้จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งใดในหน่วยงานของโจทก์ ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 หากแต่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน150,000 บาท แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8825เลขที่ดิน 605 ตำบลหนองจ๊อบ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฝ่ายเดียวฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไม่ขาดอายุความ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2528 พนักงานอัยการประจำศาลแขวงนครสวรรค์ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแขวงนครสวรรค์ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,021,827บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และเป็นโจทก์ในคดีนี้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1554/2529 ของศาลแขวงนครสวรรค์ เงินจำนวนตามคำขอดังกล่าวเป็นรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ โดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า คำขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย เป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ ทั้งโจทก์นี้ก็ได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง ที่ว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำขอบังคับของโจทก์ในคดีนี้กับคำขอส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1554/2529 ของศาลแขวงนครสวรรค์เป็นเรื่องเดียวกันตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าว ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1554/2529 ของศาลแขวงนครสวรรค์ อันต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง (1) และปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต้องห้ามเช่นนี้ กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share