คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทำสัญญาประกันตัวไว้ต่อโจทก์ในคดีที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหาแล้วผิดนัดไม่มาพบโจทก์เป็นเวลานานประมาณ 3 เดือนทำให้การดำเนินคดีของโจทก์ต้องล่าช้า แต่จำเลยกับผู้เสียหายก็ตกลงยอมความกันได้ และผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ไปจากโจทก์แล้วแสดงว่าในช่วงระยะเวลาที่จำเลยผิดนัดจำเลยได้ไปติดต่อเจรจากับผู้เสียหายจนสำเร็จ พฤติการณ์เช่นนี้หากจะให้จำเลยต้องรับผิดชำระค่าปรับเต็มตามสัญญาประกันก็จะสูงเกินไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาประกันตัวไว้ต่อโจทก์ขอประกันตัวจำเลยเอง โดยจำเลยสัญญาว่าจะมาพบโจทก์ตามที่โจทก์กำหนดนัดหากไม่มาจำเลยยอมชำระเงินค่าปรับจำนวน 140,000 บาท ให้โจทก์โจทก์จึงปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวตามสัญญาประกัน ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดนัดจำเลยไม่มาพบโจทก์ โจทก์แจ้งเตือนให้จำเลยมาพบโจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยก็ไม่ยอมมาพบโจทก์โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 140,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยยอมรับตามฟ้องของโจทก์ทุกประการ แต่จำเลยได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจนผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจลดค่าปรับตามสัญญาประกันให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 9,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าปรับจำนวน20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยจะผิดนัดเป็นเวลานานประมาณ3 เดือน อันมีผลทำให้การดำเนินคดีของโจทก์ต้องล่าช้า โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายตกลงยอมความกันได้ และผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ไปจากโจทก์แล้วซึ่งแสดงว่าในช่วงระยะเวลาที่จำเลยผิดนัด จำเลยได้ไปติดต่อเจรจาเพื่อตกลงกับผู้เสียหายจนสำเร็จโดยจำเลยน่าจะไม่ได้หลบหนีไปไหน พฤติการณ์เช่นนี้หากจะให้จำเลยต้องรับผิดชำระค่าปรับเต็มตามสัญญาประกันก็สูงเกินไป ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงิน 20,000 บาท นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share