คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้ากระทำผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมกล่าวคือ จำเลยที่ ๒ บังอาจมีอาวุธปืนลูกซองสั้นและกระสุนปืน๑ นัดไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่รับอนุญาต จำเลยทั้งห้าบังอาจปล้นทรัพย์ของผู้อื่นโดยมีปืน เหล็กขูดชาฟท์กับไม้คมแฝกเป็นอาวุธ มีเรือเป็นยานพาหนะ ในการปล้นทรัพย์ได้ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าทรัพย์คนหนึ่งโดยเจตนาฆ่า แต่เจ้าทรัพย์ไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ส่วนเจ้าทรัพย์อีกคนหนึ่งถูกฆ่าตายเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์เจ้าทรัพย์อีก ๒ คนซึ่งเป็นหญิงถูกพาไปเพื่อการอนาจารและถูกข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้ปืนบังคับอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง แล้วจำเลยทั้งห้าร่วมกันฆ่าเจ้าทรัพย์ที่เป็นหญิงทั้งสองเสียโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย เพื่อปกปิดความผิดและหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๗๖, ๒๗๗ ตรี, ๒๗๘, ๒๘๔, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อ ๑๔, ๑๕ พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ ๗๒, ๗๒ ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ ริบอาวุธปืนลูกซอง ไม้คมแฝก และมีดของกลางส่วนอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .๓๘ เลขทะเบียน กท.๒๕๐๔๓๗๗ และกระสุนปืน ๔ นัดกับปลอกกระสุนปืน ๒ ปลอก คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนโดยใช้ยานพาหนะ ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนและพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้อาวุธปืนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๗) มาตรา ๒๘๙ (๖), ๘๐, มาตรา ๒๗๖ วรรคสอง มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ๓๔๐ ตรี ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา ๒๘๙ (๗)ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้า ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา ๒๘๙ (๖), ๘๐ จำคุกคนละตลอดชีวิต ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ๓๔๐ ตรี จำคุกคนละ ๓๐ ปี ลงโทษฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา ๒๘๔ จำคุกคนละ ๒ ปี ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา ๒๗๖ วรรคสองจำคุกคนละ ๑๕ ปี จำเลยที่ ๒ ยังมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ที่แก้ไขแล้วอีกสถานหนึ่งด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานมีอาวุธปืนจำคุก ๒ ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะจำคุก ๑ ปี แต่โดยเหตุที่ศาลวางโทษฐานฆ่าผู้อื่นให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้าแล้ว จึงไม่อาจรวมโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นเข้าอีกได้ จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมสอบสวน และชั้นศาลตลอดมา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยทั้งสี่นี้ลงมือฆ่าผู้ตายทั้งสามด้วยตนเอง เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยทั้งสี่นี้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ไว้ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒ สำหรับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้จำเลยอื่นร่วมกระทำผิด ถือได้ว่าเป็นหัวหน้าพวกคนร้ายรายนี้ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ลงมือยิงฆ่าผู้ตายเองถึง ๒ ศพ และได้ร่วมกับจำเลยอื่นฆ่าผู้ตายอีก ๑ ศพ ทั้งได้ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงพยายามฆ่านายรัชชัย พานวัน ผู้เสียหายอีกด้วย ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดอย่างอุกอาจด้วยใจเหี้ยมโหดอำมหิต ผิดวิสัยมนุษย์ธรรมดา ไม่เกรงกลัวอาญาแผ่นดินและบาปกรรม นับว่าเป็นคนร้ายโดยสันดานจึงเห็นสมควรไม่ลดโทษให้ คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ ให้ตายตกไปตามกันสถานเดียว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นต่อไป อาวุธปืนลูกซอง ไม้คมแฝกและมีดของกลางให้ริบ ส่วนอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .๓๘ หมายเลขทะเบียน กท.๒๕๐๔๓๗๗ และกระสุนปืน ๔ นัดกับปลอกกระสุนปืน ๒ ปลอก คืนเจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ หนักขึ้น
ศาลชั้นต้นส่งสำนวนเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่๑ คู่ความไม่สมบูรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ จึงถึงที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ ๑ จึงต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ ๑

Share