แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยหาว่าสมคบกันทำร้ายร่างกายโจทก์มีบาดเจ็บสาหัส ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องคดีนั้นโดยเห็นว่าฟ้องของโจทก์มิได้ระบุรายละเอียดตาม ป.วิ.อ. ม.158 (5) เกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำผิด รุ่งขึ้นโจทก์จึงมายื่นฟ้องใหม่อีก โดยกล่าวในฟ้องระบุวันเวลากระทำผิดนอกนั้นคงมีข้อความอย่างเดียวกับฟ้องเดิม เช่นนี้ถือว่าเวลากระทำผิดเป็นข้อสำคัญที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้องเพราะเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องความผิดที่จำเลยกระทำลง จึงได้ชื่อว่าศาลได้ยกฟ้องในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตาม ป.วิ.อาญา ม.39 (4) คือได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง แม้คดีนี้จะเป็นคดีราษฎรฟ้องกันเองซึ่งศาลยังมิได้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ดี เพียงข้อความที่โจทก์กล่าวมาในใบฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลย ศาลก็อาจวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน.
ย่อยาว
คดีนี้เดิมโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยหาว่าสมคบกันทำร้ายร่างกายโจทก์บาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๒๕๖,๖๓
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์มิได้ระบุรายละเอียดตาม ป.วิ อาญา ม.๑๕๘ (๕) คือไม่มีเวลาที่จำเลยกระทำผิด ศาลจะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องในข้อสาระสำคัญเช่นนี้ก็ดูจะไม่เป็นธรรมแก่จำเลยเพราะเวลากระทำผิดเป็นข้อสำคัญแก่คดีมาก จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์
รุ่งขึ้นโจทก์ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้อีกโดยกล่าวมาในฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๒ ต.ค.๙๘ เวลากลางวัน ฯ นอกนั้นคงมีข้อความอย่างเดียวกับในฟ้องเดิม ศาลชั้นต้นเห็นเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อาญา ม.๓๙ (๔) จึงให้ยกฟ้องโจทก์เสีย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้วได้ความว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยกรณีความผิดเรื่องนี้ครั้งหนึ่งศาลได้ยกฟ้องคดีนั้นโดยเห็นว่าฟ้องโจทก์มิได้ระบุรายละเอียดตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๕๘ (๕) คือไม่มีเวลาที่จำเลยกระทำผิด จึงสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ รุ่งขึ้นโจทก์จึงมายื่นฟ้องใหม่อีก เห็นว่าเวลากระทำผิดเป็นข้อสำคัญที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้องเพราะเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องความผิดที่จำเลยกระทำลง จึงได้ชื่อว่าศาลได้ยกฟ้องในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตาม ป.วิ.อาญา ม.๓๙ (๔) คือได้มีคำพิพากษาเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง แม้คดีนี้จะเป็นคดีราษฎรฟ้องกันเองซึ่งศาลยังมิได้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนดังฎีกาโจทก์คัดค้านมาก็ดี แม้แต่เพียงข้อความที่โจทก์กล่าวมาในใบฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยศาลก็อาจวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน
เหตุฉนี้จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาโจทก์.