คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ควบคุมการไฟฟ้าเทศบาลได้มอบหมายให้จำเลยซึ่งเป็นช่างสายให้ช่วยเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้าด้วย เช่นนี้ถือว่า ในเรื่องการเก็บเงินดังที่ได้รับมอบหมายถือว่าเป็นหน้าที่ ฉะนั้นเมื่อจำเลยยักยอกเอาเงินนั้นไป ก็ฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องมอบอำนาจให้ฟ้อง
เมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญา แทนกฎหมายลักษณะอาญา ความผิดที่จำเลยถูกฟ้อง (ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอก) เป็นความผิดอันยอมกันได้และต้องร้องทุกข์ก่อนตาม ม. 356, 96 ก็ไม่มีผลย้อนหลังกระทบกระทั่งการฟ้องคดีที่ได้ดำเนินมาโดยชอบแล้ว .

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานเทศบาลอยู่แผนกการไฟฟ้าเทศบาลฉะเชิงเทรา นายแก้ว จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานมิเตอร์มีหน้าที่เขียนใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า เก็บรักษาและจำหน่ายใบรับเงินแก่พนักงานเก็บเงิน ทำทะเบียนบัญชีผู้ใช้ไฟฟ้า และบิลค่ากระแสไฟฟ้า นายอยู่ จำเลยที่ ๒ เป็นหัวหน้าช่างสายมีหน้าที่ติดตั้งและเดินไฟฟ้า และจำเลยทั้งสองได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่เป็นพนักงานเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้า อีกตำแหน่งด้วย จำเลยได้บังอาจทำผิดกฎหมายกล่าวคือ
ก. เมื่อระหว่างวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ถึง ๓๐ เมษายน ๒๔๙๗ เวลากลางวัน จำเลยที่ได้รับบิล ๓๑ ฉบับรวมจำนวนเงิน ๑,๐๑๗.๔๕ บาท ดังปรากฎตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้องจากจำเลยที่ ๑ ไปเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้าจากผู้มีชื่อหลายคนปรากฏตามบัญชีท้ายฟ้อง แล้วในระหว่างวันดังกล่าวเวลาใดไม่ปรากฏจำเลยทั้งสองบังอาจสมคบกันยักยอกเงินดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ไม่นำส่ง
ข. ในระหว่างวันดังกล่าวใน (ก) เวลาใดไม่ปรากฏ จำเลยที่ ๑ บังอาจนำตัวเลขจำนวนเงินซึ่งเก็บมาแล้วทั้ง ๓๑ ฉบับไปลงบัญชีว่าค้างชำระ เพื่อแสดงว่าบิลยังเก็บไม่ได้ อันเป็นเท็จโดยรู้
จึงขอให้ศาลลงโทษ
นายแก้ว ให้การรับสารภาพ นายอยู่ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ลงโทษนายแล้ว ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๑, ๒๓๐, ๓๑๙ (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๕๙ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน นายอยู่ ผิดตามมาตรา ๓๑๔ (๓) ให้จำคุก ๖ เดือน ให้ใช้ทรัพย์ด้วย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายไพโรจน์ ผู้รับมอบหมายให้ความกิจการแผนกไฟฟ้าสั่งให้จำเลยที่ ๒ กระทำหน้าที่ช่วยเก็บค่ากระแสไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง จำเลยที่ ๒ จึงมีหน้าที่ในการนี้ด้วย ส่วนการที่จะเก็บเมื่อไร กล่าว เมื่อว่างจึงจะได้ไปเก็บนั้นไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อยังไม่เก็บก็ยังไม่ใช่หน้าที่เก็บเมื่อใดก็ได้ชื่อว่าทำหน้าที่เมื่อนั้น ฉะนั้นถ้าจำเลยที่ ๒ ได้ยักยอกเองเงินที่เก็บได้นั้นเสียก็เข้าข่ายในความผิดฐานยักยอกโดยมีหน้าที่ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๑๙ (๓) และ ๓๒๐ ซึ่งกำหนดว่าเป็นความอาญาแผ่นดินไม่ต้องมีการร้องทุกข์ใรคราวยื่นฟ้อง
แม้ต่อมาเมื่อบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทนที่กฎหมายลักษณะอาญา ความผิดเช่นนี้ถือว่า เป็นความผิดอันยอมกันได้ ต้องร้องทุกข์ก่อนตามมาตรา ๓๕๖ และ ๙๖ ก็ไม่มีผลย้อนหลังถึงการฟ้องคดีที่ได้ดำเนินมาโดยตลอดแล้ว
จึงให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีใหม่.

Share