แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880มิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา867วรรคหนึ่งและไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94เพราะมิใช่กรณีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธินำสืบพยานเอกสารคู่ฉบับหนึ่งหนังสือกรมธรรม์ประกอบพยานอื่นๆในข้อรับช่วงสิทธิเพื่อแสดงว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุได้แม้ว่าคู่ฉบับหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยจะปิดอากรแสตมป์ไม่ครบบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา118ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ย – 7351 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ร – 8564 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความประมาท โดยใช้ความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และได้หยุดรถอย่างกระทันหันเป็นเหตุให้นายมนตรี สว่างพานิช ซึ่งขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9 ย – 7351 กรุงเทพมหานคร ตามหลังมาไม่สามารถหยุดหรือหลบหลีกได้ทันจึงเฉี่ยวชนกันทำให้รถยนต์ของนายมนตรีได้รับความเสียหาย โจทก์จัดการซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีดังเดิมแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ประกันภัยมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินจำนวน 35,955 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 34,509 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ย – 7351 กรุงเทพมหานคร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867วรรคแรก นั้น หมายถึงกรณีผู้เอาประกันภัยฟ้องร้องบังคับผู้รับประกันภัยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือในกรณีที่ผู้รับประกันภัยฟ้องร้องบังคับเอาเบี้ยประกันภัย ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยฟ้องร้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ อันเนื่องมาจากหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดทำให้รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดกับจำเลยที่ 1และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายของรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องร้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 มิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867วรรคแรก และไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะมิใช่กรณีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธินำสืบพยานเอกสารคู่ฉบับหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยประกอบพยานอื่น ๆ ในข้อรับช่วงสิทธิเพื่อแสดงว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9ย – 7351 กรุงเทพมหานคร ได้ แม้ว่าคู่ฉบับหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 จะปิดอากรแสตมป์ไม่ครบบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า คู่ฉบับหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมายจ.3 ของโจทก์ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานเอกสารมาแสดง รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบด้วย มาตรา 247 เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ของคู่ความได้
พิพากษายกพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณา และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี