คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7719/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่าบทกฎหมายใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา18ถ้าเป็นโทษในลำดับเดียวกันต้องถือบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์เมื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535มาตรา54วรรคหนึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน7ปีหรือปรับไม่เกิน100,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับแต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507มาตรา31วรรคหนึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่6เดือนถึง5ปีและปรับตั้งแต่5,000ถึง50,000บาทโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535มาตรา54วรรคหนึ่งจึงเป็นบทหนักกว่าและเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้วก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียวถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำแต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยตัดฟันออกจากต้นจำนวน 1 ต้น แล้วทอนเป็นท่อน อันเป็นการกระทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและร่วมกันแปรรูปไม้ประดู่ออกเป็นแผ่นจำนวน 8 แผ่นรวมปริมาตร 0.43 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการทำให้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิม และร่วมกันมีไม้แปรรูปดังกล่าวแล้วไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่มีเหตุได้รับการยกเว้นตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4,7,1148, 64 ทวิ, 73 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา38, 54, 57, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้นำจับตามกฎหมายกับให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 64 ทวิ, 73 (ที่ถูกมาตรา 73 วรรคหนึ่ง), 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31 (ที่ถูกมาตรา 31 วรรคหนึ่ง), 35 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 (ที่ถูกมาตรา 54 วรรคหนึ่ง),57, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 เป็นความผิดหลายบทหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามปรับคนละ 2,000บาท ฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองปรับคนละ 2,000รวมปรับจำเลยคนละ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับคนละ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางริบ จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามกฎหมายแก่ผู้นำจับ ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 (ที่ถูกมาตรา 54 วรรคหนึ่ง) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานแปรรูปไม้หวงห้ามและมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองแล้วรวมโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การวินิจฉัยว่าบทกฎหมายใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา18 กล่าวคือโทษจำคุกย่อมหนักกว่าโทษปรับ และถ้าเป็นโทษในลำดับเดียวกันต้องถือบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ในเมื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535มาตรา 54 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 50,000 บาท โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทหนักกว่าและเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้ว ก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียว ถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำ ศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า
พิพากษายืน

Share