คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7582/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ไม่สามารถให้บริษัทภ.กู้ยืมเงินได้อีกเพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟ้องซิเอร์พ.ศ.2522มาตรา35แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา8แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ.2522พ.ศ.2526แต่จำเลยที่1และบริษัทภ.กลับหลีกเลี่ยงโดยให้ผู้คัดค้านทั้งแปดเป็นตัวกลางกู้ยืมเงินจากจำเลยที่1แล้วนำเงินไปให้บริษัทภ.กู้ยืมต่ออีกทอดหนึ่งโดยวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนด้วยการอาวัลและออกตั๋วสัญญาใช้เงินกล่าวคือให้ผู้คัดค้านทั้งแปดออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่1และบริษัทก.ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่จำนวนเงินและวันถึงกำหนดใช้เงินตรงกันและดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ1ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดแล้วจำเลยที่1ตกลงยอมรับชำระหนี้กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านทั้งแปดด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภ. ซึ่งผู้คัดค้านทั้งแปดสลักหลังให้โดยจำเลยที่1ตกลงยอมสละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินใดๆจากผู้คัดค้านทั้งแปดแม้จะเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทภ.ไม่ได้เฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภ.ที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านที่1จำเลยที่1ยินยอมตนเข้าผูกพันอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเช่นนี้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่1และผู้คัดค้านทั้งแปดจะมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทภ.ได้ผู้ยืมเงินจากจำเลยที่1ได้อีกซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ฝ่าฝืนต้องห้ามชัดแจ้งโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ.2522มาตรา35ที่แก้ไขใหม่อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่1ผู้คัดค้านทั้งแปดและบริษัทภ.จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา150นิติกรรมที่จำเลยที่1อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภ.ต่อผู้คัดค้านที่1และที่จำเลยที่1ทำข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องใดๆให้ผู้คัดค้านที่2ถึงที่8ซึ่งสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภ.หลุดพ้นจากการชำระหนี้ย่อมไม่มีผลบังคับซึ่งไม่จำต้องเพิกถอนและต้องถือว่าบริษัทภ.เป็นบุคคลที่ได้รับเงินของจำเลยที่1ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางทำให้จำเลยที่1เสียเปรียบซึ่งมีหน้าที่ต้องคืนเงินนั้นแก่จำเลยที่1หาใช้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านทั้งแปดที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่1แต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากประกาศกระทรวงฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2527 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2527 และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้มีหนังสือทวงหนี้ให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 12 ฉบับเป็นเงิน 64,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ และมีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้คัดค้านทั้งแปดซึ่งเป็นผู้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ได้รับหนังสือทวงหนี้แล้วไม่ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดจึงเป็นหนี้กองทรัพย์สิน ของจำเลยตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ส่วนผู้คัดค้านทั้งแปดปฏิเสธหนี้ทำนองเดียวกันว่ามีข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 บริษัทภาวินเครดิต จำกัด และผู้คัดค้านทั้งแปดว่าให้ผู้คัดค้านทั้งแปดกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1แล้วนำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อ โดยผู้คัดค้านทั้งแปดออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 และบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ผู้คัดค้านทั้งหมดมีกำหนดระยะเวลาชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งหมดตรงกันเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้คัดค้านทั้งแปดออกให้จำเลยที่ 1 ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ยินยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านทั้งแปด และจากการตรวจหลักฐานแล้วปรากฎว่าในช่วงปี 2525-2526จำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัดกู้ยืมเงิน แต่ไม่สามารถจะให้กู้ยืมเงินโดยตรงได้ เนื่องจากมีการกู้ยืมเงินกันเต็มวงเงินแล้ว เป็นการผิดระเบียบธนาคารแห่งประเทศจำเลยที่ 1 จึงได้ติดต่อผู้คัดค้านทั้งแปดเพื่อให้เป็นคนกลางในการปล่อยสินเชื่อไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด โดยผู้คัดค้านทั้งแปดจะเป็นผู้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่ออีกทอดหนึ่ง โดยผู้คัดค้านทั้งแปดได้รับผลประโยชน์ในผลต่างของดอกเบี้ยจากการให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อตามวิธีการดังกล่าว โดยที่บริษัทภาวินเครดิต จำกัด มีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 ยังยอมรับโอนภาระสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากผู้คัดค้านทั้งแปดที่มีต่อบริษัทภาวินเครดิต จำกัด โดยยอมตนเข้าอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัดต่อผู้คัดค้านที่ 1 และยินยอมสละสิทธิเรียกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากผู้คัดค้านทั้งแปดเป็นผลให้ผู้คัดค้านทั้งแปดผู้สลักหลังหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ทั้งที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าบริษัทภาวินเครดิต จำกัด อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นนิติกรรมซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำลงทั้งที่รู้ว่าตนจะไม่ได้รับชำระหนี้อันเป็นทางทำให้เจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 113 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ได้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เลขที่ 174/26 ต่อผู้คัดค้านที่ 1 และเพิกถอนข้อตกลงของจำเลยที่ 1 ที่สละสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงผู้คัดค้านที่ 8 และให้กลับสู่ฐานะเดิม
ผู้คัดค้าน ที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 กู้ยืมเงินจำนวน 5,000,000 บาท แล้วนำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมเงินได้โดยตรงอีก เนื่องจากบริษัทดังกล่าวกู้ยืมเงินจนเต็มวงเงินสินเชื่อแล้วเป็นการผิดระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 เสนอให้ผลประโยชน์จากผลต่างของดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี แต่ผู้คัดค้านที่ 1ไม่เคยติดต่อค้าขายกับบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เกรงว่าจะเป็นการเสี่ยงภัยต่อการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงยินยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และยินยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัดด้วยผู้คัดค้านที่ 1 จึงยินยอมตกลงด้วย นิติกรรมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอน ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ให้ความร่วมมือแก่จำเลยที่ 1 ในการให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมเงิน โดยเป็นคนกลางแต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1เพื่อนำมาใช้ในกิจการของผู้คัดค้านเอง การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลยที่ 1 ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวนำมาชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 ยินยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว โดยตกลงยอมสละสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แม้ว่าจะเรียกเก็บเงินจากบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ไม่ได้นั้น เป็นข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับผิดชอบจากผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4มาเป็นบริษัทฟภาวินเครดิต จำกัด ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ทำให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบหรือเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้คัดค้านที่ 5 กู้ยืมเงินเพื่อประสงค์ให้ผู้คัดค้านที่ 5 นำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อ เพราะบริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 เกินวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการหลีกเลี่ยงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เพื่อที่จะไม่ให้ผู้คัดค้านที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1จึงได้ทำข้อตกลงยินยอมรับชำระหนี้จากผู้คัดค้านที่ 5 ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด แทนการชำระเงิน และสละสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 5 ชำระหนี้ใด ๆ อีก หากจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 5 ก็ไม่ยินยอมเป็นคนกลางในการกู้ยืมเงิน การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมเงินฝ่ายผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นคนกลาง จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าบริษัทภาวินเครดิต จำกัด สามารถชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ได้ จึงได้ทำข้อตกลงยินยอมสละสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่นิติกรรมซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าตนจะไม่ได้รับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 6 ได้ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 แล้วด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิตจำกัด ซึ่งมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมรับชำระหนี้ในกรณีดังกล่าวและสละสิทธิเรียกร้องที่จะไม่เรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 6ชำระหนี้อีกแม้จะบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครคิต จำกัด ไม่ได้ก็ตาม การที่ผู้คัดค้านที่ 6กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัดกู้ยืมต่อเป็นธุรกิจของผู้คัดค้านที่ 6 ซึ่งกระทำไปโดยสุจริตและเปิดเผย ผู้คัดค้านที่ 6 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 และบริษัทภาวินเครดิต จำกัด มีความสัมพันธ์กันอย่างไร นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 6 ทำกับบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนคือผลต่างของดอกเบี้ย มิใช่นิติกรรมที่ทำโดยเสน่หาทั้งขณะที่เข้าทำนิติกรรมดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 6 ก็ไม่รู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ยื่นคำคัดค้านว่า การกู้ยืมเงินด้วยวิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บริษัทภาวินเครดิต จำกัด ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ไม่ได้เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้ผู้คัดค้านที่ 7และที่ 8 ได้รับความเสียหายจากการเป็นคนกลางกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จึงยินยอมให้ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 นำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด มาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1โดยถือว่าหนี้ได้ระงับไปแล้ว และจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมสละสิทธิเรียกร้องจากผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้นการที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากบริษัทภาวินเครดิต จำกัดด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นการรับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงมิใช่การฉ้อฉลและไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 สลักหลังอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันต่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ทรงเป็นอย่างเดียวกับบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ผู้ออกตั๋วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 940 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 985 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้อีกทอดหนึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดอยู่แล้วตามมาตรา 971 ประกอบมาตรา 785ผู้คัดค้านที่ 1 จึงหลุดพ้นจาก ความรับผิดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงสละสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 2ถึงที่ 8 ชำระหนี้แม้จะเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ไม่ได้มีผลทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8หลุดพ้นจากการเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งข้อตกลงมีผลบังคับได้ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 ไม่ต้องชำระหนี้โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในกรณีเช่นนี้แล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2532 เมื่อนิติกรรมดังกล่าวจำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านทั้งแปดซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกเป็นนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ทำให้โดยเสน่หาและรู้ดีกว่าฐานะการเงินของตนขาดสภาพคล่อง และบริษัทภาวินเครดิต จำกัด กำลังประสบการขาดทุน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ทั้งมิใช่เป็นนิติกรรมอำพราง การกู้ยืมเงินหรือหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินหรือเปลี่ยนตัวลูกหนี้ มีคำสั่งให้เพิกถอนการที่จำเลยที่ 1 อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เลขที่ 174/26 ต่อผู้คัดค้านที่ 1 และให้เพิกถอนการที่จำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ชำระหนี้ใด ๆ อีก
ผู้คัดค้านทั้งแปดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดกู้ยืมเงินเพื่อนำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 35 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้รวมทั้งที่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ก็ตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำทั้งหลายของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านทั้งแปดและบริษัทภาวินเครดิต จำกัดเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นิติกรรมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ข้อตกลงยอมรับชำระหนี้จากผู้คัดค้านทั้งแปดด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด และข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระหนี้ใด ๆ อีกไม่มีผลบังคับ ไม่จำต้องเพิกถอน กรณีเช่นนี้ผู้ร้องชอบที่จะเรียกร้องเงินจำนวน 64,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระจากบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ซึ่งรับเงินนั้นไว้จากผู้คัดค้านทั้งแปดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งแปดต่อไปพิพากษากลับให้ยกคำร้องของ ผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า ระหว่างปี 2525-2526 ผู้คัดค้านทั้งแปดได้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำเงินที่กู้ยืมไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่ออีกทอดหนึ่ง ในการนี้ผู้คัดค้านทั้งแปดได้รับประโยชน์ในผลต่างของดอกเบี้ย โดยผู้คัดค้านทั้งแปดเสียดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 อัตราร้อยละ 14 ต่อปี แต่นำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี การกู้ยืมเงินไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันแต่ใช้วิธีการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยผู้คัดค้านทั้งแปดออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีให้จำเลยที่ 1 และบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ก็ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ จำนวนเงินและวันถึงกำหนดใช้เงินตรงกัน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้ผู้คัดค้านทั้งแปด รวม 12 ฉบับ จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 64,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.10 ถึง ร.21จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมรับชำระหนี้จากผู้คัดค้านทั้งแปดด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ที่ออกให้ผู้คัดค้านทั้งแปดดังกล่าวแทนการชำระด้วยเงิน และมีข้อตกลงยินยอมสละสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้คัดค้านทั้งแปดชำระหนี้ในส่วนที่ขาด แม้จำเลยที่ 1จะเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทภาวินเครดิต จำกัดไม่ได้ตามเอกสารหมาย ร.54 ร.55 ร.65 ร.66 ร.73 ร.75 ร.77 ร.92ร.95 และเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมตนเข้าผูกพันอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เอกสารหมาย ร.12 ที่ออกให้ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อครบกำหนดที่ผู้คัดค้านทั้งแปดจะต้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินของตน ผู้คัดค้านทั้งแปดได้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เอกสารหมาย ร.10 ถึง ร.21ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 และบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 รวม 87 ราย เป็นเงินประมาณ1,000,000,000 บาท แต่ผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ได้ประมาณ 110,000,000 บาท
ฎีกาผู้ร้องข้อแรกที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดกู้ยืมเงินแล้วนำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมต่อเป็นการกระทำที่เจตนาเพื่อต้องการช่วยเหลือให้บริษัทภาวินเครดิตจำกัด ได้กู้ยืมเงินเท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด กู้ยืมเงินได้ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 35 ที่แก้ไขใหม่ แต่ถ้าเป็นกรณีที่บริษัทอื่นประสงค์ที่จะให้กู้ยืมเงินอีกกฎหมายก็มิได้ห้ามไว้ จำเลยที่ 1 จึงได้ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินแทนเท่านั้น พฤติการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และหากเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านทั้งแปดยังมีหน้าที่ที่จะต้องคืนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะลาภมิควรได้เช่นเดียวกับบริษัทภาวินเครดิต จำกัด นั้นศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ไม่สามารถให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัดกู้ยืมเงินได้อีก เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 35 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และหรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้น เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ รวมกันเกินจำนวนหรืออัตราส่วนกับเงินกองทุนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีแต่จำเลยที่ 1 และบริษัทภาวินเครดิต จำกัดกลับหลีกเลี่ยงโดยวิธีให้ผู้คัดค้านทั้งแปดเป็นตัวกลางกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำเงินดังกล่าวไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัดกู้ยืมต่ออีกทอดหนึ่ง โดยวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนด้วยการอาวัลและออกตั๋วสัญญาใช้เงินกล่าวคือ ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 1 และบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ จำนวนเงินและวันถึงกำหนดใช้เงินตรงกัน และดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 1 ให้ผู้คัดค้านทั้งแปด แล้วจำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับชำระหนี้กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านทั้งแปดด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านทั้งแปดสลักหลังให้โดยจำเลยที่ 1 ตกลงยอมสละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินใด ๆ จากผู้คัดค้านทั้งแปดแม้จะเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ไม่ได้ตามเอกสารหมาย ร.54 ร.55 ร.65 ร.66ร.73 ร.75 ร.77 ร.92 และ ร.95 เฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด ที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 จำเลยที่ 1ยินยอมตนเข้าผูกพันอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น เช่นนี้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านทั้งแปดจะมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด ได้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 ได้อีกแต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ฝ่าฝืนต้องห้ามชัดแจ้งโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การกระทำทั้งหลายของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านทั้งแปดและบริษัทเครดิต จำกัดจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัดต่อผู้คัดค้านที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด หลุดพ้นจากการชำระหนี้ย่อมไม่มีผลบังคับซึ่งไม่จำต้องเพิกถอนและกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าบริษัทภาวินเครดิต จำกัด เป็นบุคคลที่ได้รับเงินของจำเลยที่ 1 ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางทำให้จำเลยที่ 1เสียเปรียบ ซึ่งมีหน้าที่ต้องคืนเงินนั้นแก่จำเลยที่ 1 หาใช่เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านทั้งแปดที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาผู้ร้องในข้อที่ว่านิติกรรมการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินและข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 กระทำให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 ได้กระทำไปโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบและเป็นการให้โดยเสน่หาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2583 หรือไม่
พิพากษายืน

Share