แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การค้าข้าว 2489(ฉบับที่ 1) มาตรา 9 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) มาตรา 5 เป็นเรื่องบัญญัติถึงผู้ประกอบการค้า หาได้บัญญัติถึงบุคคลทั่วไปที่ทำการค้าเป็นครั้งคราว โดยมิได้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวไม่ จึงมีผลเท่ากับว่า ข้อความที่บัญญัติในมาตรา11 เป็นข้อยกเว้นสำหรับผู้ประกอบการค้าข้าว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9
เรือที่ใช้เป็นพาหนะขนข้าวเปลือกไปแลกกับบุคคลอื่นไม่ใช่สิ่งที่บรรจุ ไม่ริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยได้เอาข้าวโพดไปแลกข้าวเปลือกกับบุคคลอื่นรวมข้าวเปลือก 68 ถัง ซึ่งเป็นการเกินกว่าปริมาณที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้ทำการแลกเปลี่ยนข้าวเปลือกได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน10 ถัง ขอให้ลงโทษ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประกาศของคณะกรรมการฯ ขัดต่อพระราชบัญญัติ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการค้าข้าวมาตรา 11 ว่าบทบัญญัติในมาตรา 9 มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ขายหรือแลกข้าวครั้งหนึ่งมีปริมาณข้าวเปลือกทุกชนิดไม่เกิน 2 เกวียนหลวง มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 1) 2489 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 มาตรา 5 เป็นเรื่องที่บัญญัติถึงผู้ประกอบการค้าข้าวชนิดที่ต้องขออนุญาตประกอบการค้า หาได้บัญญัติถึงบุคคลทั่วไปที่ทำการค้าเป็นครั้งคราวโดยมิได้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวไม่ จึงมีผลเท่ากับว่า มาตรา 11 เป็นข้อยกเว้นสำหรับผู้ประกอบการค้าข้าวที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9
การที่พนักงานเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และประกาศของคณะกรรมการฯ ฉบับที่ 4 ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวครั้งหนึ่งไม่เกิน 10 ถังนั้นเป็นประกาศห้ามแก่บุคคลทั่วไปอีกเรื่องหนึ่งต่างหากโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 ไม่เกี่ยวแก่การบัญญัติถึงผู้ประกอบการค้าข้าวตามมาตรา 9
การลงโทษก็แยกไว้ต่างบทกัน ซึ่งเห็นได้ว่าลักษณะความผิดต่างฐานกับคดี ฟังได้ว่าจำเลยทำผิดจริงดังฟ้อง
พิพากษากลับให้จำคุกจำเลย 11 เดือน 15 วัน แต่ให้รอการลงอาญาไว้ ข้าวของกลางริบ แต่เรือที่ใช้เป็นยานพาหนะ ไม่ใช่สิ่งที่ใช้บรรจุไม่ริบ