คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระทรวงสาธารณสุขจำเลยทำสัญญาเพิ่มเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ผู้รับจ้าง เพราะอุปกรณ์การก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หากจำเลยผู้ว่าจ้างไม่เพิ่มให้โจทก์อาจทิ้งงานเป็นผลให้งานก่อสร้างของทางราชการต้องล่าช้าเสียหาย เงินเพิ่มชดเชยนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญาเดิมซึ่งโจทก์ผู้รับจ้างจะต้องวางเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันเช่นเดียวกับสัญญาเดิม และเป็นเงินที่เพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจำนวนตามที่คู่สัญญาตกลงกันแล้วว่า จะเพียงพอให้งานก่อสร้างตามสัญญาเดิมดำเนินไปจนเสร็จสิ้น ดังนั้น ข้อความในสัญญาเพิ่มเงินค่าก่อสร้างที่ว่า ” ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับจ้าง เป็นจำนวนเงิน 1,530,880 บาท เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว ” จึงมิใช่เงื่อนไข แต่เป็นวิธีการกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้าง คือ จำเลยผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณแล้ว จำเลยจะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดในกรณีที่สำนักงบประมาณไม่อนุมัติงวดเงินที่ค้างชำระอยู่อีก 356,690 บาทหาได้ไม่
จำลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จะยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเดิม พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารเป็นเงิน ๕,๖๓๐,๐๐๐ บาท ต่อมาอุปกรณ์ก่อสร้างราคาสูงขึ้น จำเลยได้เพิ่มเงินค่าก่อสร้างจากสัญญาเดิมให้โจทก์อีก ๑,๕๓๐,๘๘๐ บาท ตามสัญญาชดเชยเงินค่าจ้าง โจทก์สร้างอาคารแล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยยังค้างชำระค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๓๕๖,๙๖๐ บาท จึงขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในเงินตามฟ้อง เพราะเงื่อนไขในการชำระเงินดังกล่าวนั้นไม่เสร็จ เพราะไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายนิติกรรมส่วนนี้จึงไม่มีผล จำเลยไม่ต้องรับผิด และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ให้การว่าเป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามฟ้องและยกฟ้องจำเลยที่ ๒, ๓, ๔
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าตามสัญญาท้ายฟ้องหมาย ๓ ข้อ ๔ ได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยไว้ว่า ผู้จ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดในกรณีที่สำนักงบประมาณไม่อนุมัติงวดเงินที่ค้างชำระอยู่อีก ๓๕๖,๙๖๐ บาท
สัญญาชดเชยเงินค่าจ้างท้ายฟ้องหมายเลข ๓ มีความว่าสัญญานี้ทำขึ้นเพื่อเพิ่มเงินค่าก่อสร้าง เป็นการชดเชยให้แก่ผู้รับทำการก่อสร้างอาคารของทางราชการตามนัยมติคณะรัฐมนตรี ผู้รับจ้างมีสิทธิที่จะได้รับเงินเพิ่มเป็นการชดเชยต่อเมื่อได้ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาเดิมคือ สัญญาฉบับท้ายฟ้องหมายเลข ๒ และผู้รับจ้างได้วางเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารในอัตราร้อยละ ๕ ของเงินเพิ่มชดเชย เป็นจำนวนเงิน ๗๖,๕๔๔ บาท ให้ผู้ว่าจ้างยึดถือไว้ ข้อ ๔ มีความว่า ” ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงิน ๑,๕๓๐,๘๘๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนสามหมื่นแปดร้อยแปดสิบบาทถ้วน) เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว ” เห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นเพื่อเพิ่มเงินค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างคือโจทก์ เป็นการเพิ่มเงินค่าก่อสร้างให้สูงขึ้นกว่าสัญญาเดิม ส่วนข้อกำหนดสัญญาอื่น ๆ คงเป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ (สัญญาข้อ ๒) เหตุที่ต้องเพิ่มเงินค่าก่อสร้างเป็นเพราะเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ (ดังที่โจทก์บรรยายฟ้องซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธ) หากจำเลยที่ ๑ ผู้ว่าจ้างไม่เพิ่มให้ โจทก์อาจทิ้งงานเป็นผลให้งานก่อสร้างของทางราชการต้องล่าช้าเสียหายเงินเพิ่มชดเชยนี้เป็นส่วนหนึ่ง่ของค่าจ้างตามสัญญาเดิมซึ่งโจทก์ผู้รับจ้างจะต้องวางเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารเช่นเดียวกับสัญญาเดิม เงินที่เพิ่มให้ตามมติคณะรัฐมนตรีมีจำนวนที่คู่สัญญาตกลงกันแล้วว่าจะเพียงพอให้งานก่อสร้างตามสัญญาเดิมดำเนินไปจนเสร็จสิ้นจึงได้กำหนดไว้เป็นจำนวนแน่นอนในสัญญาท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ข้อ ๔ เป็นจำนวนเงิน ๑,๕๓๐,๘๘๐ บาท มีผลผูกพันคู่สัญญา ฉะนั้น ความในสัญญาข้อ ๔ ที่ว่า ” เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว ฯลฯ ” จึงมิใช่เงื่อนไข แต่เป็นวิธีการกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้าง คือจำเลยที่ ๑ จะจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์
เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว และเมื่อโจทก์ผู้รับจ้างทำงานเสร็จและขอรับเงินงวดที่ ๘ อันเป็นงวดสุดท้ายของสัญญาเดิม ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น ข้อที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินสินจ้างเพื่อการงานที่ทำเกิน ๒ ปี ขาดอายุความตามกฎหมายนั้น จำเลยที่ ๑ มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ จะยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓
พิพากษายืน.

Share