คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับประกันภัยค้ำจุนย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้เอาประกันภัย ขึ้นต่อสู้กับผู้ซึ่งฟ้องตนให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยได้ (อ้างฎีกาที่ 3631/2528) การที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไม่ได้เป็นลูกจ้างปฏิบัติงาน ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย โดยศาลชั้นต้น กำหนดเป็นประเด็นไว้ และวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แล้วพิพากษา ให้จำเลยทั้งสามแพ้คดีดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะไม่อุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ตกไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังติดใจ อุทธรณ์ในประเด็นนี้อยู่ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องวินิจฉัยให้
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 มาติดต่อกับพนักงานสอบสวนระบุ ชื่อ จำเลยที่ 1 ว่าเป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุของตนแล้ว นำตัวจำเลยที่ 1 มามอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับได้มา ทำการตกลงค่าเสียหายกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเพียงพอ ให้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับอยู่ในทีแล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไป ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2นอกจากนี้การขับ รถยนต์บรรทุกสิบล้อ ไม่ใช่งานที่คนธรรมดาซึ่งไม่มีความชำนาญเป็นพิเศษจะพึงทำได้ แต่เป็นงานของผู้มีอาชีพในทางนี้โดยเฉพาะ และไม่อาจคาดหมายได้ว่า เป็นงานที่พึงทำให้เปล่า. เมื่อฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างไว้คดีชอบที่จะฟังว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ไปทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 (อ้างฎีกาที่ 2048/2526)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท ชนรถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 80,150 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุรถยนต์ชนกันไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 รถยนต์ของโจทก์เสียหายไม่เกิน 2,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ 75,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ 50,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ต้องเสียหายในนามของจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบสำหรับวินาศภัยที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 3จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้เอาประกันภัยค้ำจุนขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3631/2528 ระหว่าง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโจทก์ บริษัท เมโทรแมชินเนอรี่ จำกัด กับพวก จำเลย คดีนี้จำเลยที่ 3 ต่อสู้และศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแพ้คดี แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่อุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ตกไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังติดใจอุทธรณ์ในประเด็นนี้อยู่ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้ เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยไปเสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า นั้น ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้นำจำเลยที่ 1 มามอบให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ และร้อยตำรวจเอกประสงค์ เผ่าจินดา ผู้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ยังยืนยันด้วยว่าก่อนพามามอบตัว จำเลยที่ 2เคยมาติดต่อระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุของตน นอกจากนี้ปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 2 ได้มาทำการตกลงค่าเสียหายกับนายวิมล ถิรมงคลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ แต่ตกลงกันไม่ได้ พฤติการณ์ทั้งหลายของจำเลยที่ 2ดังกล่าว เพียงพอให้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับอยู่ในทีแล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดคดีนี้ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่โต้แย้งในข้อนี้มาแต่ต้น ประกอบกับการขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไม่ใช่งานที่คนธรรมดาซึ่งไม่มีความชำนาญพิเศษจะพึงทำได้ แต่เป็นงานของผู้มีอาชีพในทางนี้โดยเฉพาะและไม่อาจคาดหมายได้ว่าเป็นงานที่พึงทำให้เปล่า ทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่นำสืบหักล้างไว้ คดีชอบที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2048/2526 ระหว่าง บริษัท พิพัทธ์ประกันภัย จำกัด โจทก์ นางทอง ตั้งสิทธิธนะกูล กับพวก จำเลยจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในมูลละเมิดครั้งนี้ ฉะนั้น จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษายืน

Share