คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19776/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้มาจากนิติสัมพันธ์ตามที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพักอาศัย แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารแทน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาช่วงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวก อ้างว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ก่อสร้างอาคารและส่งมอบงานให้แก่โจทก์เสร็จตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาที่ไม่ชำระค่าจ้างและคืนเงินประกันผลงานให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยสัญญาจ้างเหมาช่วง ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้และในคดีก่อนจึงเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่ในคดีก่อนเคยถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 18,437,861.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 373/2553 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 373/2553 มีมูลเหตุในคดีแตกต่างกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จนเสร็จแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพักอาศัย 7 ชั้น โครงการ รอยัล รีเจ้นท์ รัชดา เป็นเงิน 56,744,602.83 บาท ตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.5 วันที่ 11 กรกฎาคม 2550 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารแทน ตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ต่อศาลชั้นต้น เรียกค่าจ้างค้างชำระและค่าเสียหายเป็นเงิน 31,910,797 บาท โจทก์ให้การต่อสู้คดีว่า สัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ผูกพันโจทก์ และจำเลยที่ 1 ทำงานล่าช้ากับละทิ้งงานไปทำให้โจทก์ต้องว่าจ้างผู้รับเหมารายอื่นทำงานต่อ โจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินประกันผลงานและเงินค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม 2553 ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา มิใช่จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระเงิน 27,978,837.03 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 373/2553 ของศาลชั้นต้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 373/2553 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้มาจากนิติสัมพันธ์ตามที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพักอาศัย 7 ชั้น โครงการ รอยัล รีเจ้นท์ รัชดา แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารแทน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาช่วงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำงานล่าช้าและละทิ้งงานไป จึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 373/2553 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ก่อสร้างอาคารและส่งมอบงานให้แก่โจทก์เสร็จตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาที่ไม่ชำระค่าจ้างและคืนเงินประกันผลงานให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยสัญญาจ้างเหมาช่วง ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้และในคดีก่อนจึงเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่ในคดีก่อนเคยถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น กรณีจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share