คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้มอบสินค้าให้จำเลยไปขายแทนโจทก์จำเลยก็รับว่าได้รับสินค้าของโจทก์ไว้ขายจริงดังนี้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นเรื่องตัวแทนโจทก์ในฐานะตัวการฟ้องเรียกเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของจำเลยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมอันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งมีกำหนด10ปีบังคับเมื่อนับตั้งแต่โจทก์มอบสินค้าให้จำเลยไปขายแทนจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน10ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์มิได้เรียกร้องให้จำเลยคืนค่าสินค้าที่ฝากให้จำเลยขายเสียก่อนจำเลยจึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้นข้อนี้แม้จำเลยมิได้ให้การไว้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคสองและศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ปัญหานี้โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบเงินค่าสินค้าที่ฝากให้จำเลยขายส่วนที่ยังเหลืออยู่ภายใน3วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามหนังสือนั้นให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปลายปี 2528 ถึงต้นปี 2529 โจทก์มอบสินค้าจำนวน 202 รายการ รวมราคา 960,427 บาทให้จำเลยไปขายแทนโจทก์ โดยให้บำเหน็จตอบแทนร้อยละ 25ของเงินที่ขายสินค้าได้ ต่อมาปลายปี 2531 จำเลยคืนสินค้าให้โจทก์125 รายการคิดเป็นราคา 454,377 บาท ส่วนที่เหลือ77 รายการ ราคา 506,050 บาท จำเลยได้ขายไปหมดแล้วจึงต้องส่งมอบเงินที่ขายได้ให้แก่โจทก์โดยหักค่าบำเหน็จไว้ร้อยละ25 จำเลย ส่งเงินให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 28,366 บาท คงเหลือที่จะต้องส่งมอบเงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 351,171.50 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 351,171.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2528 จำเลยรับสินค้าของโจทก์มาขายรวม 202 รายการ คิดเป็นราคา 960,427 บาท โจทก์ตกลงให้ค่าบำเหน็จร้อยละ 25 ของเงินที่ขายได้ ต่อมากลางปี 2531จำเลยคืนสินค้าให้โจทก์ไป 125 รายการ คิดเป็นราคา454,377 บาท ส่วนที่เหลือ 77 รายการ ราคา 506,050 บาทโจทก์ตกลงให้จำเลยลดราคาให้แก่ลูกค้าร้อยละ 50 เมื่อหักค่าบำเหน็จจำนวน 63,256.25 บาท แล้ว จำเลยต้องรับผิดเพียง 189,768.75 บาท จำเลยได้ชำระให้โจทก์แล้ว 28,366 บาท คงเหลือที่ต้องรับผิดเพียง 161,402.75 บาท แต่หลังจากที่โจทก์รับสินค้างวดแรกคืนไปแล้วโจทก์เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ ในระหว่างนั้นสามีโจทก์และบุตรสาวโจทก์มารับสินค้าไปหลายครั้งหลายรายการส่วนที่เหลืออยู่ชำรุดเสียหายไม่สามารถนำออกขายได้และมีราคาไม่เกิน 10,000 บาท จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับสินค้าคืนแต่โจทก์อ้างว่ายังไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย โจทก์เป็นพ่อค้านำคดีมาฟ้องเกิน 2 ปีนับแต่ปี 2528 จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 351,171.50 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ10,000 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยค้างชำระเงินค่าสินค้าที่เหลือ 77 รายการ ดังที่โจทก์ฟ้องจริง ข้อฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้มอบสินค้าให้จำเลยไปขายแทนโจทก์จำเลยก็รับว่าได้รับสินค้าของโจทก์ไว้ขายจริง ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นเรื่องตัวแทน โจทก์ในฐานะตัวการฟ้องเรียกเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของจำเลยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมอันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งมีกำหนด 10 ปี บังคับ เมื่อนับตั้งแต่โจทก์มอบสินค้าให้จำเลยไปขายแทนในปลายปี 2528 ถึงต้นปี 2529 จนถึงวันที่12 กุมภาพันธ์ 2533 อันเป็นวันฟ้อง ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความส่วนที่จำเลยกล่าวมาในฎีกาข้อ 3 ว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์มิได้เรียกร้องให้จำเลยคืนค่าสินค้าที่ฝากให้จำเลยขายเสียก่อน จำเลยจึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น ข้อนี้แม้จำเลยมิได้ให้การไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง และศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ปัญหานี้เห็นว่า โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์2533 แจ้งให้จำเลยส่งมอบเงินค่าสินค้าที่ฝากให้จำเลยขายส่วนที่ยังเหลืออยู่ 77 รายการ เป็นเงิน 351,171.50 บาท ภายใน3 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8ซึ่งจำเลยนำสืบรับว่าจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามหนังสือนั้นให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share