คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้างให้จำเลย โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือสินจ้างในผลงานก่อสร้างจากจำเลยถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือสินจ้างในกิจการนั้น จึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้องในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ในกรณีมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับราคาค่างานรายการก่อสร้างตามดัชนีราคาสินค้าที่สูงขึ้นโดยให้คำนวณ ณ วันที่มีการส่งมอบงานเป็นเกณฑ์ เงินเพิ่มปรับราคาค่างานรายการก่อสร้างจึงมิใช่ค่าตอบแทนที่มีข้อผูกพันกันตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างที่โจทก์กับจำเลยตกลงทำกันไว้แต่เดิม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างหรือสินจ้างที่เพิ่มขึ้นจากผลงานที่โจทก์พึงได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี การฟ้องเรียกร้องเงินเพิ่มค่างานจึงเสมือนเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือสินจ้างจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) จำเลยมีหนังสือไปถึงสำนักงบประมาณขอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินเพิ่มค่างานสำหรับงวดสุดท้ายให้โจทก์หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยติดต่อหารือไปยังสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมจะชำระเงินเพิ่มค่างานให้ตามหนังสือนั้นและจำเลยมิได้มีหนังสือดังกล่าวไปถึงโจทก์ จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินเพิ่มค่างานนับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบงานเป็นต้นไป แม้การหน่วงเหนี่ยวไม่ชำระเงินเพิ่มค่างานอาจเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายอันเกิดจากการหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมชำระเงินเพิ่มค่างานโจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ทันทีอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ส่งมอบงานเป็นต้นไปหาใช่ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเงินเพิ่มตราบนั้น การละเมิดยังคงมีอยู่ต่อเนื่องกันตลอดไปไม่ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2เมื่อเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันประพฤติผิดสัญญาและข้อตกลงการจ้างกับข้อตกลงในการจ่ายเงินเพิ่มตามสัญญาปรับราคาร่วมกันใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หน่วงเหนี่ยวและไม่ยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์และบริษัทประสพผล จำกัด การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์และบริษัทประสพผล จำกัด ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงินค่าปรับ ราคา และค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับราคาให้โจทก์และโจทก์ไม่เคยทวงถามค่าปรับราคาจากจำเลย จำเลยไม่ใช่ฝ่ายผิดนัด จำเลยไม่เคยหน่วงเหนี่ยวการจ่ายเงินค่าปรับราคารายนี้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าผู้รับเหมาก่อสร้างมีสิทธิเรียกร้องค่าปรับราคาหรือสินจ้างตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2524 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่31 ตุลาคม 2527 เกิน 2 ปี และโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัวในมูลละเมิดโดยโจทก์ทราบการกระทำละเมิดและผู้กระทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2526 แต่นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2527 เกิน 1 ปี ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าจ้างหรือสินจ้างตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างท้ายฟ้อง เห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยแล้วมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับราคาค่างานรายการก่อสร้างตามดัชนีราคาสินค้าที่สูงขึ้นโดยให้คำนวณ ณ วันที่มีการส่งมอบงานเป็นเกณฑ์ดังนี้ เงินเพิ่มปรับราคาค่างานรายการก่อสร้างจึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนที่มีข้อผูกพันกันตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างที่โจทก์กับจำเลยตกลงทำกันไว้แต่เดิม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างหรือสินจ้างที่เพิ่มขึ้นจากผลงานที่โจทก์พึงได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี การฟ้องเรียกร้องเงินเพิ่มค่างานจึงเสมือนฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือสินจ้างจากผู้ว่าจ้างซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7)ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลล่างหยิบยกอายุความที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ขึ้นมาวินิจฉัยตัดฟ้องของโจทก์เป็นการไม่ชอบ นั้น สำหรับปัญหานี้ จำเลยให้การสู้คดีว่าโจทก์เป็นพ่อค้ารับเหมาก่อสร้างจะต้องฟ้องเรียกร้องเอาค่าปรับราคาภายใน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับราคาคือ วันที่ 20 มีนาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายแต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 เกิน 2 ปีคดีโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากคำคู่ความฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับจ้างเหมาทำการก่อสร้างให้จำเลย โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือสินจ้างในผลงานก่อสร้างจากจำเลย ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือสินจ้างในกิจการนั้นจึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้องในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ข้อตัดฟ้องของจำเลยมีอยู่แล้วตามคำให้การฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเนื่องจากปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23มีนาคม 2524 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเพิ่มได้ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ปรับราคาค่างานรายการก่อสร้างตามดัชนีราคาที่สูงขึ้น ส่วนเงินเพิ่มค่างานเป็นจำนวนเงินเท่าไรให้คำนวณณ วันที่มีการส่งมอบงานเป็นเกณฑ์ จึงต้องถือว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเพิ่มค่างาน นับตั้งแต่วันที่23 มีนาคม 2524 เป็นต้นไป โจทก์เพิ่งมาฟ้องเรียกร้องเอาเงินจำนวนนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 เกิน 2 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่29 กันยายน 2525 และลงวันที่ 21 มีนาคม 2526 ถึงสำนักงบประมาณขอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินเพิ่มค่างานสำหรับงานงวดสุดท้ายให้โจทก์ ปรากฏตามหนังสือของสำนักงบประมาณตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 5 ซึ่งต้องถือเป็นปริยายว่า จำเลยที่ 1ยอมรับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2526 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ นั้นแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฎีกาของโจทก์ก็เห็นว่า เป็นเพียงจำเลยที่ 1มีหนังสือติดต่อหารือไปยังสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยอมชำระเงินเพิ่มค่างานให้ตามหนังสือนั้น และข้อที่สำคัญจำเลยที่ 1 มิได้มีหนังสือดังกล่าวไปถึงโจทก์ จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด
สำหรับในส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายแล้ว จำเลยที่ 2 ได้หน่วงเหนี่ยวการชำระค่าจ้างให้โจทก์ ต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันตลอดมานั้น เห็นว่า ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์รู้อยู่แล้วว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ฝ่ายจำเลยชำระเงินเพิ่มค่างานนับตั้งแต่วันที่โจทก์ส่งมอบงานเป็นต้นไป ดังนี้ แม้การหน่วงเหนี่ยวไม่ชำระเงินเพิ่มค่างานอาจเป็นการละเมิดต่อโจทก์คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายอันเกิดจากการหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมชำระเงินเพิ่มค่างาน โจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ทันที อายุความก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันที่โจทก์ส่งมอบงานคือวันที่ 23 มีนาคม 2524 เป็นต้นไป หาใช่ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเงินเพิ่ม ตราบนั้นการละเมิดยังคงมีอยู่ต่อเนื่องกันตลอดไปไม่ โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่31 ตุลาคม 2527 เกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448”
พิพากษายืน

Share