คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆเกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและความผิดดังกล่าวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆกันรวมทั้งท้องที่สถานีตำรวจนครบาล บางยี่ขันและสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ท่ามะกา พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา19วรรคหนึ่ง(3),(4)และวรรคสองพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล บางยี่ขันซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนแต่จำเลยทั้งสองถูกจับที่อำเภอ ท่ามะกา พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่ามะกา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา19วรรคสาม(ก)พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล บางยี่ขันคงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจเท่านั้นทั้งไม่เข้ากรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา19วรรคสาม(ข)เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล บางยี่ขันซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้อัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา140,141แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จก็ถือไม่ได้ว่าได้มี การสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา120โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคำขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายย่อมตกไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ ฟ้อง และ แก้ไข คำฟ้อง ขอให้ ลงโทษ จำเลย ทั้ง สอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 284, 310, 371พระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ , 72, 72 ทวิและ ริบของกลาง
จำเลย ทั้ง สอง ให้การ ปฏิเสธ
ระหว่าง พิจารณา นางสาว ท. ผู้เสียหาย ยื่น คำร้องขอ เข้าร่วม เป็น โจทก์ ศาลชั้นต้น อนุญาต
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษา ว่า จำเลย ที่ 1 มี ความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก , 284 วรรคแรก , 310 วรรคแรกเป็น ความผิด หลายกรรม ต่างกัน ให้ ลงโทษ ทุกกรรม เป็น กระทง ความผิด ไปฐาน ข่มขืน กระทำ ชำเรา วางโทษ จำคุก 4 ปี ฐาน พา หญิง ไป เพื่อ การ อนาจารวางโทษ จำคุก 1 ปี ฐาน หน่วงเหนี่ยว กักขัง ผู้อื่น วางโทษ จำคุก 3 เดือนรวม จำคุก จำเลย ที่ 1 ไว้ มี กำหนด 5 ปี 1 เดือน จำเลย ที่ 2 มี ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก วางโทษ จำคุก 3 เดือนอาวุธปืน ของกลาง เป็น ทรัพย์ ที่ มีไว้ เป็น ความผิด จึง ให้ริบ ข้อหานอกจาก นี้ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วม และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง แต่ ให้ริบ ของกลาง
โจทก์ และ โจทก์ร่วม ฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า “พิเคราะห์ แล้ว เห็นว่า ความผิด ฐาน พา หญิงไป เพื่อ การ อนาจาร โดย ใช้ อุบาย หลอกลวง เป็น ความผิด ต่อเนื่อง และกระทำ ต่อเนื่อง กัน ใน ท้องที่ ต่าง ๆ เกินกว่า ท้องที่ หนึ่ง ขึ้น ไปและ ความผิด ฐาน พา หญิง ไป เพื่อ การ อนาจาร ตาม ที่ โจทก์ นำสืบ ดังกล่าวกับ ความผิด ฐาน หน่วงเหนี่ยว กักขัง ผู้อื่น และ ข่มขืน กระทำ ชำเราเป็น ความผิด ซึ่ง มี หลายกรรม กระทำ ลง ใน ท้องที่ ต่าง ๆ กัน รวมทั้งใน ท้องที่ สถานีตำรวจนครบาล บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร และ สถานีตำรวจภูธร อำเภอ ท่ามะกา จังหวัด กาญจนบุรี ซึ่ง พนักงานสอบสวน ใน ท้องที่ หนึ่ง ท้องที่ ใด ที่ เกี่ยวข้อง มีอำนาจ สอบสวน ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3)(4) และวรรคสอง ฉะนั้น พันตำรวจโท วันชัย เปี่ยมสมบูรณ์ พนักงานสอบสวน สถานี ตำรวจ นครบาล บางยี่ขัน ใน ขณะ เกิดเหตุ ซึ่ง เป็น พนักงานสอบสวน ท้องที่ หนึ่ง ท้องที่ ใด ที่ เกี่ยวข้อง จึง มีอำนาจ สอบสวน คดี นี้ แต่ ปรากฏว่าจำเลย ทั้ง สอง ถูกจับ ที่ อำเภอ ท่ามะกา จังหวัด กาญจนบุรี พนักงาน สอบสวน ผู้รับผิดชอบ ใน การ สอบสวน กรณี จับ ผู้ต้องหา ได้ แล้ว เช่นนี้จึง เป็น ที่ แน่ชัด ว่า คือ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร อำเภอ ท่ามะกา ซึ่ง เป็น ท้องที่ ที่ จับ ได้ อยู่ ใน เขตอำนาจ ตาม ประมวล กฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ก) การ ที่ พันตำรวจโท วันชัย ได้ ทำการ สอบสวน คดี นี้ หลังจาก จับ จำเลย ทั้ง สอง ได้ แล้ว พันตำรวจโท วันชัย คง เป็น พนักงานสอบสวน ผู้มีอำนาจ สอบสวน เท่านั้น แต่ พันตำรวจโท วันชัย มิได้ เป็น พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบ ทั้ง มิใช่ กรณี ที่ จับ ผู้ต้องหายัง ไม่ได้ อัน จะ ถือว่า พนักงานสอบสวน ซึ่ง ท้องที่ ที่ พบ การกระทำ ผิดก่อน อยู่ ใน เขตอำนาจ เป็น พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบ ตาม ประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ข) ได้ เมื่อพันตำรวจโท วันชัย มิใช่ พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบ ซึ่ง มีอำนาจ สรุป สำนวน และ ทำ ความเห็น ว่า ควร สั่ง ฟ้อง หรือ สั่ง ไม่ฟ้อง ส่ง ไปพร้อม กับ สำนวน เพื่อ ให้ พนักงานอัยการ พิจารณา ตาม ที่ บัญญัติ ไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 แม้ จะดำเนินการ สอบสวน ต่อไป จน เสร็จ ก็ ถือไม่ได้ว่า ได้ มี การ สอบสวนใน ความผิด นั้น ก่อน โดยชอบ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 โจทก์ จึง ไม่มี อำนาจฟ้อง เมื่อ วินิจฉัย เช่นนี้ คำร้องขอเข้า เป็น โจทก์ร่วม ของ ผู้เสียหาย ย่อม เป็น อัน ตก ไป ด้วย ไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกา ของ โจทก์ร่วม ที่ ขอให้ ลงโทษ จำเลย ทั้ง สอง ตาม ฟ้องโจทก์ต่อไป ที่ ศาลอุทธรณ์ พิพากษา มา นั้น ศาลฎีกา เห็นพ้อง ด้วย ใน ผลฎีกา ของ โจทก์ และ โจทก์ร่วม ฟังไม่ขึ้น ”
พิพากษายืน

Share