คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นลงมือใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215หากเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้เลิกแล้วผู้กระทำไม่ยอมเลิกและได้กระทำการต่อไปจนเป็นความสำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำย่อมมีความผิดทั้งมาตรา 215 และ 216 อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวเพราะเป็นเจตนาเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,215, 216 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 215, 216พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลางโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 เพียงบทเดียว ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 อีกบทหนึ่งพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง เพียงบทเดียวส่วนโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และริบของกลาง โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้นมาตรา 216จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้หากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นกรรมเดียวที่เกิดจากการมั่วสุมและไม่เลิกตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อต่างหากจากกันโดยในข้อ 1 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529เวลากลางวัน จำเลยกับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งเป็นอาวุธขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคม กับขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน และโรงงานไทยแลนด์ แทนทาลั่ม อินดัสตรี จำกัดซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำผิดตามมาตรา 215 ส่วนฟ้องข้อ 2โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลยกับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1. ให้เลิกไปแต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ยอมเลิก อันเป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำผิดตามมาตรา 216 ซึ่งตามคำฟ้องข้อ 2. นี้ย่อมมีความหมายเพียงว่า เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกในขณะที่จำเลยกับพวกกำลังมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 เท่านั้นข้อความตามคำฟ้องนี้ไม่อาจแปลความได้ว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกนั้น จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำการครบถ้วนอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 แล้วดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยการที่จำเลยกระทำการต่อไปจนเป็นความสำเร็จตามมาตรา 215 โดยไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ย่อมมีความผิดตามมาตรา 215อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 216 จึงต้องลงโทษตามมาตรา 216 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง, 216, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 216 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share