คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) อ้างว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)สูญหาย เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้ประกาศการขอรับใบแทนแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน และต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบแทนให้แก่ผู้ขอแล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้สูญหายแต่อย่างใด กรณีต้องถือว่าการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานที่ดินต้องเพิกถอนใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว ตาม ป.ที่ดินมาตรา 61
พฤติการณ์ของโจทก์ตั้งแต่โจทก์ทราบว่า ส.ทำสัญญาประนี-ประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์ก็ฟ้องเพิกถอนสัญญาประนี-ประนอมยอมความและอายัดที่ดิน แต่เมื่อ ส.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยินยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ ต่อมา ส.ผิดนัด โจทก์ก็นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทและขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตลอดมา แม้ขณะที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาท หากจำเลยเห็นว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของส.แล้ว จำเลยชอบที่จะร้องขัดทรัพย์ แต่จำเลยก็มิได้ร้องขัดทรัพย์หรือโต้แย้งประการใด จนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศและขายทอดตลาดไปตามคำสั่งศาลซึ่งโจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด กรณีฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์รายนี้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิเป็นของตนได้ก่อน และจำเลยซึ่งจดทะเบียนการโอนภายหลังโจทก์นำยึดที่ดินพิพาทแล้วจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาทและเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ส.กับจำเลยได้

Share