แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย เรื่องสวัสดิการพนักงาน ข้อ 2 ว่าด้วยเงินสะสมพนักงานระบุเจตนารมณ์การจัดให้มีเงินสะสมขึ้นเพื่อช่วยเหลือและเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นคงในอนาคตของพนักงาน ที่ลาออกหรือเกษียณอายุว่าหลังจากพ้นสภาพพนักงานด้วยเหตุ ดังกล่าวจะได้เงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินที่จะได้รับนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่หักไว้จากค่าจ้างของโจทก์ในแต่ละเดือน และอีกส่วนหนึ่งจำเลยจะต้องสมทบซึ่งต้องมอบเงินให้พนักงาน ที่ลาออกในจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกกรณีเสมอ ไม่ใช่กำหนดให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยเป็นผู้พิจารณาว่า ควรจะสมทบเงินหรือควรจะมอบเงินให้หรือไม่เพราะถ้าให้อยู่ ในดุลพินิจของจำเลย ย่อมเป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยจะ สมทบเงินหรือจะมอบเงินให้หรือไม่ จึงไม่เป็นหลักประกัน ที่แน่นอนและไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคตของโจทก์ ทั้งไม่มีสวัสดิการที่จำเลยจะต้องจัดให้โจทก์ตาม เจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ ข้อความในกฎระเบียบข้อบังคับการทำงาน ข้อ 2(7)(8) ที่ระบุว่าจำเลยจะสมทบเงินหรือจะพิจารณามอบเงิน คำว่า “จะ” หมายความเพียงว่าในเวลาข้างหน้าถัดจากมีกฎระเบียบข้อบังคับ การทำงานแล้ว จำเลยจึงจะต้องปฏิบัติและจ่ายเงินตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และคำว่า “จะพิจารณา” ก็มีความหมาย เพียงว่าให้จำเลยพิจารณาก่อนว่าโจทก์ออกจากงานเนื่องจาก การกระทำความผิดหรือไม่ และถ้ามีสิทธิได้รับเงินที่จำเลย จะสมทบและจะมอบให้ โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎระเบียบข้อบังคับ การทำงานข้อใดเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดให้เป็นดุลพินิจของ จำเลยที่จะพิจารณาว่าควรจะสมทบเงินหรือควรจะมอบเงิน ให้โจทก์หรือไม่
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวน ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนถัดไปว่าโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างทำงานให้แก่จำเลย แต่จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และจำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ทั้งห้าไว้เดือนละ 1 วันเป็นเงินสะสมโดยตกลงจะคืนเงินสะสมและดอกเบี้ยพร้อมกับจ่ายเงินสมทบให้ตามระเบียบเมื่อโจทก์ทั้งห้าลาออกจากงานโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ทำงานมาเกิน 15 ปี มีสิทธิได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 180 วัน โจทก์ทั้งห้าลาออกจากงาน แล้วทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเงินสะสม เงินสมทบและเงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีสิทธิได้รับกรณีทำงานเกิน 15 ปี แก่โจทก์แต่ละคน ตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยแต่ได้ลาออกแล้วตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงาน หมวดที่ 9สวัสดิการพนักงาน ข้อ 2(1) ถึง (8) จำเลยจะจ่ายเงินสะสมคืนพร้อมดอกเบี้ย หากตรวจพบว่าพนักงานมิได้กระทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับการทำงาน ส่วนเงินสมทบตาม (1) ถึง (8)ถือว่าเป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะจ่ายหรือไม่ โดยพิจารณาจากผลกำไรขาดทุน ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีปัญหาและจำเลยประสบปัญหาขาดทุนจึงไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 ทำงานเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน2535 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,688 บาท โจทก์ที่ 2 ทำงานเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2519 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,234 บาท โจทก์ที่ 3 ทำงานเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2519 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,185 บาทโจทก์ที่ 4 ทำงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2522 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,612 บาท และโจทก์ที่ 5 ทำงานเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2533 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,900 บาท โจทก์ที่ 1 ลาออกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ลาออกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และได้หักค่าจ้างของโจทก์ทั้งห้าไว้เป็นเงินสะสมโดยตกลงจ่ายเงินสะสม ดอกเบี้ย เงินสมทบ และเงินกรณีทำงานเกิน 15 ปี ให้เมื่อโจทก์ทั้งห้าลาออกจากงานตามฟ้องจริง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 37,032 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 27,653 บาท จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 69,740.28 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 155,636 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 88,072 บาท ให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 91,864.16 บาท ให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 39,358.75 บาท และจ่ายเงินกรณีทำงานเกิน 15 ปี ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 121,404 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 85,140 บาท และให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 69,672 บาท
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่ากฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.1หมวดที่ 9 เรื่องสวัสดิการพนักงาน ข้อ 2(7) ระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินสมทบเงินสะสมให้พนักงานที่ลาออก และข้อ 2(8)ระบุว่าจำเลยจะพิจารณามอบเงินให้พนักงานที่ลาออกและมีอายุงานเกิน 15 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบข้อบังคับการทำงาน ซึ่งข้อความว่าจะสมทบเงินและจะพิจารณามอบเงินมีความหมายว่าจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ จึงถือได้ว่าเป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะสมทบเงินหรือจะมอบเงินให้พนักงานหรือไม่ โดยนำสภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการกำไร ขาดทุน มาประกอบการพิจารณาด้วยนั้น เห็นว่า กฎระเบียบข้อบังคับการทำงานหมวดที่ 9เรื่อง สวัสดิการพนักงาน ข้อ 2 ว่าด้วยเงินสะสมพนักงานได้ระบุเจตนารมณ์การจัดให้มีเงินสะสมขึ้นเพื่อช่วยเหลือและเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นคงในอนาคตของพนักงานที่ลาออกหรือเกษียณอายุว่าหลังจากพ้นสภาพพนักงานด้วยเหตุดังกล่าวแล้วจะได้เงินจำนวนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 2(1) ถึง (9) ซึ่งเงินที่จะได้รับจำนวนดังกล่าวนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่หักไว้จากค่าจ้างของโจทก์ทั้งห้าในแต่ละเดือนแล้วเพื่อเป็นการให้สวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานที่มิได้พ้นสภาพพนักงานเนื่องจากการกระทำความผิดตามเจตนารมณ์ดังกล่าวจำเลยจะต้องสมทบเงินและจะต้องมอบเงินให้พนักงานที่ลาออกตามจำนวนที่จะพึงได้รับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกกรณีเสมอหาใช่กำหนดให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะสมทบเงินหรือควรจะมอบเงินให้หรือไม่ เพราะถ้าให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยแล้วย่อมจะเป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยจะสมทบเงินหรือจะมอบเงินให้หรือไม่ จึงไม่เป็นหลักประกันที่แน่นอนและไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคตของโจทก์ทั้งห้าทั้งไม่มีสวัสดิการที่จำเลยจะต้องจัดให้โจทก์ทั้งห้าตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ สำหรับข้อความที่ระบุว่าจำเลยจะสมทบเงินหรือจะพิจารณามอบเงินนั้น คำว่า “จะ” หมายความเพียงว่าในเวลาข้างหน้าถัดจากมีกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานแล้วจำเลยจึงจะต้องปฏิบัติและจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ส่วนคำว่า “จะพิจารณา” นั้น ก็มีความหมายเพียงว่าให้จำเลยพิจารณาก่อนว่าโจทก์ทั้งห้าออกจากงานเนื่องจากการกระทำความผิดหรือไม่ และถ้ามีสิทธิได้รับเงินที่จำเลยจะสมทบและจะมอบให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานข้อใดเท่านั้น หาใช่กำหนดให้เป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะพิจารณาว่าควรจะสมทบเงินหรือควรจะมอบเงินให้หรือไม่ดังจำเลยอ้างที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งห้าสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน