คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษาผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็นองค์คณะพิจารณาตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และมาตรา 31แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานโดยอนุโลม ดังนั้น ถ้าจำเลยเห็นว่าศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดี อันเป็นการผิดระเบียบ จำเลยจะต้องยื่นคัดค้านเสียภายใน 8 วัน ตามมาตรา 27แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลแรงงานกลางได้นั่งพิจารณาในวันที่ 21 สิงหาคม 2533 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 กันยายน 2533 ถ้าผู้พิพากษาสมทบมิได้นั่งพิจารณาและลงลายมือชื่อในวันนั่งพิจารณานั้นจำเลยย่อมทราบแล้วว่าเป็นการผิดระเบียบควรคัดค้านเสียภายใน 8 วัน เมื่อจำเลยมิได้คัดค้าน จะอุทธรณ์โต้แย้งว่าการพิจารณาไม่ชอบหาได้ไม่ ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมาฟ้องบังคับจำเลยทั้งสอง เช่นนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนคดีก่อน จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 1ถูกโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม กับขอให้ใช้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ วันนัดพิจารณา ศาลบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 3ตุลาคม 2532 ว่า โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้ง และได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2532 โจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ศาลอนุญาตและรับคำให้การ สำเนาให้จำเลยจำเลยที่ 2 รับสำเนาแล้ว มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำให้การเกี่ยวกับรายละเอียดต่อสู้ฟ้องแย้งแต่ในฟ้องโจทก์มีรายละเอียดตามประเด็นที่พิพาทกัน คำให้การแก้ฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมมีสิทธิสืบในรายละเอียดว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งได้ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานคุมยาสูบตรี มีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบในการบรรทุกบุหรี่และควบคุมรถบรรทุกบุหรี่ระหว่างเดินทางจนถึงผู้รับปลายทาง จำเลยที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ไม่เฝ้าบุหรี่ เป็นเหตุให้คนร้ายลักรถและบุหรี่ไป โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายค่าบุหรี่แก่โรงงานยาสูบเป็นเงิน 1,512,394.81 บาท ทั้งต้องซ่อมรถที่คนร้ายงัดอีก 7,820 บาทนับได้ว่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างร้ายแรงในผลการกระทำของจำเลยที่ 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ เมื่อวันที่16 มกราคม 2530 จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่งไม่ควบคุมดูแลบุหรี่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ปล่อยทิ้งรถยนต์ที่บรรทุกบุหรี่ไว้โดยลำพัง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกบุหรี่และบุหรี่ที่บรรทุกบนรถยนต์นั้นถูกคนร้ายลักไป โจทก์ต้องชดใช้ค่าบุหรี่ที่สูญหายให้แก่โรงงานยาสูบเป็นเงิน 1,512,394.81 บาท และซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ถูกคนร้ายงัดประตูเสียหายเป็นเงิน 7,820 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี และจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด แต่ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้พิจารณาและพิพากษาไปก่อนเช่นนี้ เป็นการไม่ชอบพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่แล้วดำเนินการต่อไป
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การนั่งพิจารณาคดีแรงงานศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้สมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณาตามมาตรา 17แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุโลม ดังนั้น ถ้าจำเลยเห็นว่าศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดี อันเป็นการผิดระเบียบจำเลยจะต้องยื่นคำคัดค้านเสียภายใน 8 วัน ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ปรากฏว่าศาลได้นั่งพิจารณาในวันที่ 21 สิงหาคม 2533 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 กันยายน 2533ซึ่งถ้าผู้พิพากษาสมทบมิได้นั่งพิจารณาและลงลายมือชื่อในวันนั้นจำเลยย่อมทราบแล้วว่าเป็นการผิดระเบียบ ก็ควรจะคัดค้านเสียภายใน8 วัน เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านจะมาอุทธรณ์โต้แย้งว่าไม่ชอบหาได้ไม่การพิจารณาของศาลแรงงานกลางถือว่าชอบแล้ว
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปีฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้กล่าวว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมาฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จำเลยทั้งสองทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 15กันยายน 2532 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อ้างว่า การฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 3215/2532 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถูกโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม กับขอให้ใช้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคดีนี้การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้งโดยมิได้ยกข้อกล่าวอ้างว่าจะไม่ต้องรับผิดอย่างไร โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งในภายหลังอีกจึงไม่ชอบ และไม่มีสิทธินำสืบในรายละเอียดนั้นเห็นว่า ในวันนัดพิจารณาศาลแรงงานกลางบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2532 ว่า โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้ง และได้กำหนดข้อพิพาทในคดีนี้ ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม2532 โจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ศาลอนุญาตและรับคำให้การสำเนาให้จำเลย จำเลยที่ 2 รับสำเนาแล้ว มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อมิได้โต้แย้งไว้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาถือได้ว่าศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำให้การถูกต้องแล้ว โจทก์มีสิทธินำสืบในรายละเอียดตามที่ให้การแก้ฟ้องแย้งที่ศาลอนุญาตแล้วได้ถึงแม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำให้การเกี่ยวกับรายละเอียดต่อสู้ฟ้องแย้งปรากฏว่าในฟ้องโจทก์มีรายละเอียดตามประเด็นที่พิพาทกัน คำให้การแก้ฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิสืบในรายละเอียดว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งได้ส่วนอุทธรณ์ตอนสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เฝ้าบุหรี่จนเป็นเหตุให้ถูกคนร้ายลักไปความเสียหายที่โจทก์ได้รับหาใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นกรณีร้ายแรงนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2ละทิ้งหน้าที่ไม่เฝ้าบุหรี่เป็นเหตุให้คนร้าย ลักรถและบุหรี่ไปโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายค่าบุหรี่แก่โรงงานยาสูบเป็นเงิน1,512,394.81 บาท ทั้งต้องซ่อมรถที่คนร้ายงัดอีก 7,820 บาทนับได้ว่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างร้ายแรงในผลการกระทำของจำเลยที่ 2
พิพากษายืน.

Share