คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจึงฟ้องจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงินไม่ได้ สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาทเมื่อจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้แต่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเท่านั้น
ป.พ.พ. มาตรา 991 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของธนาคารที่มีต่อผู้เคยค้าเท่านั้น เมื่อกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) ของมาตรา 991ก็ให้สิทธิแก่ธนาคารที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ แต่จะหักเงินจากบัญชีของผู้เคยค้าได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาจากมูลเหตุที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คเป็นราย ๆ ไป
สัญญาระหว่างธนาคารกับผู้เคยค้าไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 374 และมาตรา 375

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่ ลงวันที่ ๒๔กันยายน ๒๕๒๘ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีนางสาวรำเพย บุณยรัตนพันธุ์ ลูกค้าของธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดการใช้เงินโจทก์ได้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่ ธนาคารจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งที่ในวันดังกล่าวเงินในบัญชีของนางสาวรำเพยมีเพียงพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ และจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็ค ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์จำนวน๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
จำเลยให้การว่า นางสาวรำเพยเป็นลูกค้าของธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่แต่เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๘ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม จำกัด มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารจำเลยอายัดเงินในบัญชีของนางสาวรำเพยที่มีอยู่ในธนาคารจำเลย เนื่องจากนางสาวรำเพยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวได้ฉ้อโกงทรัพย์ของบริษัทและนำเงินมาฝากไว้ที่ธนาคารจำเลยจำเลยในฐานะเป็นธนาคารกระทำการโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ อันเป็นประเพณีของธนาคารจึงได้อายัดเงินไว้ และต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ส่งเงินของนางสาวรำเพยที่มีอยู่ในธนาคารจำเลยไปยังศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๓๑๐๗/๒๕๒๘ ธนาคารจำเลยได้ส่งเงินจำนวน ๕๑๔,๑๗๑.๖๕ บาท ไปยังศาลแพ่ง นางสาวรำเพยจึงไม่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารจำเลยอีกธนาคารจำเลยไม่ได้รับรองและลงลายมือชื่อในเช็คฉบับดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งมีนางสาวรำเพย บุณยรัตนพันธุ์เป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งที่เงินในบัญชีของนางสาวรำเพยมีพอที่จะจ่ายได้ ทั้งนี้เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของนางสาวรำเพยแจ้งมายังจำเลยขออายัดการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเนื่องจากนางสาว-รำเพยฉ้อโกงเงินของบริษัทไป ปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เช็คพิพาทเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๙๘คู่สัญญาในตั๋วเงินได้แก่เจ้าหนี้ในตั๋วเงินและลูกหนี้ในตั๋วเงิน ซึ่งการเข้ามาเป็นลูกหนี้ในตั๋วเงินย่อมกระทำได้โดยการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นเท่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐๐ และมาตรา๙๐๑ จำเลยเป็นธนาคารมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คพิพาทที่นางสาวรำเพยผู้เคยค้ากับจำเลยได้ออกเบิกเงินแก่ตนตามมาตรา ๙๙๑ ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดตามสัญญาทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ความรับผิดตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงิน โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทฟ้องขอให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงิน ก็ต้องฟ้องผู้ที่เป็นลูกหนี้ในเช็คพิพาทเท่านั้น จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทจึงไม่ใช่ลูกหนี้ในตั๋วเงิน โจทก์ฟ้องจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาทเมื่อจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้แต่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลทั้งหลายที่ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเท่านั้น คือนางสาวรำเพย ผู้สั่งจ่ายซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๑๔ประกอบด้วยมาตรา ๙๘๙ ส่วนบทบัญญัติมาตรา ๙๙๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของธนาคารที่มีต่อผู้เคยค้าเท่านั้น คือ เมื่อกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) ของมาตรา ๙๙๑ แล้ว ก็ให้สิทธิแก่ธนาคารตามเช็คที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ แต่จะหักเงินจากบัญชีของผู้เคยค้าได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาจากมูลเหตุที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คเป็นราย ๆ ไปส่วนข้อที่โจทก์แก้ฎีกาว่าสัญญาระหว่างธนาคารจำเลยกับนางสาวรำเพยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗๔ และมาตรา ๓๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใดธนาคารจำเลยจะต้องผูกพันต่อโจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ต่อเมื่อธนาคารจำเลยได้จดข้อความรับรองลงในเช็คพิพาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๙๓ จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องตั๋วเงิน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share