แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์แต่ใส่ชื่อ ว. เป็นเจ้าของในทะเบียน และให้ ว. นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการเชิด ว. ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และถือเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญานั้นกับจำเลยที่ 2 เองจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีความผูกพันกันตามสัญญาเมื่อจำเลยที่ 1ประมาทขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์โจทก์เสียหายโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญานั้นได้ไม่ต้องวินิจฉัยว่าการเชิดออกเป็นตัวแทนเช่าซื้อรถยนต์ต้องทำเป็นหนังสือ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ข. 4390จากบริษัทมหานครเงินทุน จำกัด แต่ใส่ชื่อนายวิวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ เป็นเจ้าของในทะเบียน และให้นายวิวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้และครอบครองรถยนต์ตลอดมาจนถึงวันเวลาเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันนั้นไปชนรถยนต์โจทก์โดยประมาทได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 15,000 บาท และทำให้นายมี สิลาคม คนขับรถยนต์ของโจทก์ได้รับบาดเจ็บ หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้นายมี สิลาคม คนขับรถยนต์โจทก์เป็นเงิน 3,200 บาท และซ่อมรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 เสร็จแล้ว ปัญหาข้อกฎหมายที่จะวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน7 ข. 4390 เป็นของจำเลยที่ 1 มอบให้นายวิวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ นำมาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการเชิดนายวิวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย ล.1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และถือเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาประกันภัยนั้นกับจำเลยที่ 2 เอง ดังนั้นจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีความผูกพันกันตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมาทขับรถยนต์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ไปชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ โจทก์ย่อมจะฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 ได้” ฯลฯ
“ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าการทำสัญญาประกันภัยจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เชิดนายวิวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ ให้เป็นตัวแทนเช่าซื้อรถยนต์ และทำสัญญาประกันภัยก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 867 นั้น เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่นายวิวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2”
พิพากษายืน