คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในค่าเสียหาย 4 รายการ รายการแรกเป็นค่าขาดประโยชน์ 30,000 บาทรายการที่ 2 ค่าเสื่อมราคารถยนต์ของโจทก์ที่ถูกชน 10,000 บาทรายการที่ 3 ค่าระวางพาหนะ 2,500 บาท และรายการที่ 4 ค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าที่รับขน 41,358 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวในฎีกาเพียงว่าศาลล่างกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์สูงเกินไปไม่ควรเกิน40,000 บาท นั้นไม่มีรายละเอียดว่ารายการไหนที่มีจำนวนสูงและสูงอย่างไร ถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และที่กล่าวว่าโจทก์ได้รับของที่เสียหายไปแล้ว และทรัพย์สินเสียหายไม่มากนั้นก็ไม่ระบุว่าของหรือทรัพย์สินรายการใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือควรกำหนดให้ต่ำลงมาอีกจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่ารถพิพาทและจำเลยที่ 1 มิใช่รถและลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวว่าจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถพิพาทในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ว่าไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-2166 นครราชสีมา จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-3363นครราชสีมา ด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์จะเป็นเจ้าของรถหรือไม่ไม่รับรอง จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน83,858 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่24 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายเกี่ยวกับกรณีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้เป็นเงินหลายรายการ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์รวม 4 รายการ รายการแรกเป็นค่าขาดประโยชน์30,000 บาท รายการที่ 2 ค่าเสื่อมราคารถยนต์ของโจทก์ที่ถูกชน10,000 บาท รายการที่ 3 ค่าระวางพาหนะ 2,500 บาท และรายการที่ 4ค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าที่รับขน 41,358 บาท ตามฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 ตอนแรกที่ว่า ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์สูงเกินไปซึ่งไม่ควรเกิน 40,000 บาท นั้น ไม่มีรายละเอียดว่ารายการไหนที่มีจำนวนสูงและสูงอย่างไร ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายรายการที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ สำหรับค่าเสียหายในรายการที่ 4 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ฎีกาเพียงว่าโจทก์ได้รับของที่เสียหายไปแล้วและทรัพย์สินเสียหายไม่มากนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนนี้ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรและที่ว่าโจทก์ได้รับของที่เสียหายไปแล้วและทรัพย์สินเสียหายไม่มากก็ไม่ได้ความว่าของหรือทรัพย์สินที่เสียหายเป็นอะไร มีราคามากน้อยอย่างไร เพราะของหรือสินค้าที่โจทก์รับจ้างขนมีหลายอย่างและที่ได้รับความเสียหายมีถึง 15 รายการ ความเสียหายแต่ละรายการมีราคาแตกต่างกัน เมื่อตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ระบุว่าของหรือทรัพย์สินรายการใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ถูกต้อง หรือควรกำหนดให้ต่ำลงมาอีก จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่ารถพิพาทและจำเลยที่ 1 หาใช่รถและลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ รถพิพาทเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดจตุรบุตรการโยธาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าประมวลข้อเท็จจริงดังกล่าวกรณีน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-3363 นครราชสีมา โดยจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างผู้ขับรถคันดังกล่าวและในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-3363 นครราชสีมา ไปบรรทุกหินในกิจการของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องและผิดพลาดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งเช่นกัน
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3

Share