คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุบรรเทาโทษเพราะจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน สมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ฎีกาขึ้นมาเมื่อจำเลยที่มิได้ฎีกาซึ่งกระทำความผิดร่วมกันก็ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเช่นเดียวกันเหตุบรรเทาโทษดังกล่าวจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗, ๓๔๐, ๓๗๑,๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖)พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน ๓๖,๗๖๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗, ๓๔๐ ให้ลงโทษตามมาตรา๓๔๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ ๑๘ ปีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษปรับคนละ ๑๐๐ บาทริบของกลางให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน ๓๖,๗๖๐ บาทแก่ผู้เสียหายหากจำเลยที่๒ และที่ ๓ ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับพวกเป็นคนร้ายรายนี้ พยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษสมควรลดโทษในความผิดฐานปล้นทรัพย์ให้หนึ่งในสามและโดยเหตุที่จำเลยที่ ๒ ที่มิได้ฎีกาได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เมื่อถูกจับได้ก็ให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวนเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๓และที่ ๔ เหตุบรรเทาโทษดังกล่าวจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่ ๒ ที่มิได้ฎีกาได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕นอกจากนั้น ที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ โดยไม่ระบุวรรคนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคสามและให้ลดโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓และที่ ๔ ในความผิดฐานดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ลงหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ คนละ ๑๒ ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share