คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลย (ที่ 1) ถูกศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ.2503 แต่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้งตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2504 และ พ.ศ. 2506 ลดโทษลงเป็นจำคุก 20 ปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2502 จำเลยจึงเป็นนักโทษเด็ดขาด ถูกจำคุกไว้ที่เรือนจำกลางบางขวาง ครั้นต่อมาได้มี พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 ออกใช้บังคับ ซึ่งผู้ร้องผู้เป็นภริยาจำเลยเห็นว่า ตามความในมาตรา 5(จ)
จำเลยอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ยังมิได้รับการพิจารณาสั่งปล่อย ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 โดยถือว่าจำเลยถูกควบคุมโดยผิดกฎหมาย การยื่นคำร้องดังกล่าวนั้นต้องยื่นต่อศาลจังหวัดนนทบุรีตามความในมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ซึ่งให้อำนาจแก่ศาลแห่งท้องที่ที่ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ในเขตมีอำนาจออกหมายสั่งปล่อย หาใช่ศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ไม่ เพราะมิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าถูกจำคุก ผิดจากคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา)

ย่อยาว

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2503 ให้ประหารชีวิตนายกังวาน วีระนนท์ จำเลย ต่อมานายกังวานจำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2504 และ พ.ศ. 2506 รวม 2 ครั้ง ให้ลดโทษเป็นจำคุก 20 ปี เริ่มนับโทษตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2502

ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยานายกังวานจำเลย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2514 ว่านายกังวานมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ และได้รับโทษจำคุกมาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของโทษจำคุก จึงมีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 มาตรา 5(1) แต่ขณะนี้นายกังวานจำเลยยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวางดังนั้น การคุมขังนี้จึงเป็นการคุมขังที่ผิดกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งปล่อยตัวนายกังวานจำเลยไปตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 มาตรา 5(จ) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) สั่งว่าคำร้องนี้อ้างว่าจำเลยได้รับอภัยโทษแต่ยังไม่ให้ปล่อยตัวจำเลยไป จึงมิใช่หน้าที่ศาลที่จะสั่ง

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่านายกังวานจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่เรือนจำกลางบางขวางอยู่ในเขต พิพากษายืนในผลที่ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องฎีกาต่อมาว่า ประเด็นในชั้นอุทธรณ์มีเพียงว่านายกังวาน วีระนนท์ สามีผู้ร้องมีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 มาตรา 5(จ) ตามคำร้องของผู้ร้องหรือไม่เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้ไต่สวนคำร้องของผู้ร้องเป็นการไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และคดีนี้ได้เริ่มต้นและพิจารณาพิพากษาที่ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) กรณีนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาซึ่งมีเขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้มีการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ปล่อยตัวนายกังวาน วีระนนท์ จำเลยไป

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้เป็นการร้องขอโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 โดยถือว่านายกังวานจำเลยสามีผู้ร้องถูกขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2514(จ) ซึ่งนายกังวานจำเลยอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแต่มิได้รับการพิจารณาสั่งปล่อย ดังนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2514 บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการหรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ออกหมายหรือคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้” ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ปรากฏว่านายกังวาน วีระนนท์ เป็นนักโทษเด็ดขาดถูกขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนนทบุรีและมาตรา 9 วรรคแรกแห่งพระราชกฤษฎีกานี้ บัญญัติว่า “ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่ หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่ หนึ่งคนและอัยการแห่งท้องที่ หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคนเป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้เสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษแล้วแต่กรณี” ตามนัยบทมาตรานี้ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาออกหมายปล่อยหรือลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดและผู้ที่ต้องกักขังอยู่ในเรือนจากกลางบางขวางที่คณะกรรมการส่งบัญชีรายชื่อมาให้พิจารณาเมื่อนายกังวาน วีระนนท์ นักโทษเด็ดขาดต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวางซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่าถูกขังอยู่โดยผิดกฎหมาย โดยมิได้รับการพิจารณาสั่งปล่อยตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ก็ชอบที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลแห่งท้องที่นั้น เมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีได้รับคำร้องแล้ว จะได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 วรรค 2 ต่อไป

ที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องนี้ต่อศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) จึงเป็นการมิชอบเพราะมิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าถูกจำคุกผิดจากคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) อันจะพึงถือว่าเป็นกรณีในชั้นบังคับคดี ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share