คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3739/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหน้าที่และการปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติของจำเลยมีจริงหรือไม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญในความผิดที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่ว่าฟ้องโจทก์ไม่บรรยายแจ้งชัดว่าจำเลยมีหน้าที่และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องโจทก์ว่าไม่เป็นความผิด จึงเป็นคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) โจทก์จึงฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดอย่างเดียวกันกับคดีก่อนอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ โดยจำเลยที่ 1ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน จำเลยที่ 2ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 3ดำรงตำแหน่งนิติกรระดับ 6 โจทก์เคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการตำแหน่งครั้งสุดท้ายก่อนถูกปลดออกจากราชการเป็นศึกษานิเทศก์ 8เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2534 โจทก์ถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่ 1984/2534 และคำสั่งที่ 1986/2534ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2534 ทั้ง 2 คำสั่ง หลังจากที่โจทก์ถูกลงโทษตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ตามระเบียบ การที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนมีคำสั่งลงโทษโจทก์นั้น จำเลยที่ 1มีหน้าที่รายงานการลงโทษดังกล่าวไปยังคณะกรรมการข้าราชการครู(ก.ค.) ภายในกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้สำนวนคืนจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2535ถึงวันที่ 1 เมษายน 2535 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้ร่วมกันทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 ซึ่งมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อนได้เจตนากลั่นแกล้งโจทก์โดยร่วมมือกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ร่วมกันไม่ยอมส่งสำนวนการสอบสวนตามคำสั่งที่ 1984/2534 และ 1986/2534 ไปให้คณะกรรมการข้าราชการครู(ก.ค.) พิจารณา จนกระทั่งโจทก์ต้องร้องเรียนไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนายกรัฐมนตรี จากการร้องเรียนดังกล่าวในที่สุดจำเลยที่ 1ได้ส่งสำเนาการสอบสวนตามคำสั่งที่ 1984/2534ไปให้คณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) พิจารณาเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2535 และคำสั่งที่ 1986/2534 จำเลยที่ 1 ส่งสำนวนไปเมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2535 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลา30 วัน ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.)ไปหลายเดือน การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งหากคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.)ยังมิได้รับสำนวนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 83 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยที่ 1 รับราชการมานานมีส่วนทำประโยชน์แก่ประเทศชาติอยู่บ้าง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 เดียวกับคดีนี้ในข้อหาและข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำเป็นความผิดอย่างเดียวกันกับคดีนี้ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คือคดีหมายเลขแดงที่ 7039/2535ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกานี้มีว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ระบุเหตุว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร คำฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้น เป็นการวินิจฉัยในความผิดที่ได้ฟ้องแล้วหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหน้าที่และการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 มีจริงหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในความผิดที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำตามฟ้อง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ระบุว่าฟ้องโจทก์ไม่บรรยายแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร จึงเป็นการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องโจทก์ว่าไม่เป็นความผิดตามที่กล่าวหาแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นถูกต้องแล้ว”
พิพากษายืน

Share