แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำชานคลองเขตคันคลองชลประทานว่า อยู่บริเวณถนนสุขุมวิท หลักกิโลเมตรที่ 40 จำนวนเนื้อที่ 60 ตารางเมตรตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการเป็นการบรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพ.ศ. 2485 มาตรา 23 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ส่วนพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485มาตรา 37 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 และพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 เป็นมาตราที่กำหนดโทษในการกระทำความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารพักอาศัย 1 หลัง รุกล้ำชานคลองเขตคันคลองชลประทาน คลองข้างคันกั้นน้ำทะเล บริเวณถนนสุขุมวิท หลักกิโลเมตรที่ 40 จำนวนเนื้อที่ 60 ตารางเมตรบริเวณตามประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดทางน้ำชลประทานตามพระราชบัญญัติ การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน2504 และจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 23, 37 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 12, 17 ให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างรุกล้ำเขตคันคลองชลประทาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 23, 37 จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างรุกล้ำเขตคันคลองชลประทานภายในกำหนด 1 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่โจทก์ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำชานคลองเขตคันคลองชลประทานว่า อยู่บริเวณถนนสุขุมวิทหลักกิโลเมตรที่ 40 จำนวนเนื้อที่ 60 ตารางเมตร ตำบลบางปูใหม่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ นั้น เป็นการบรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมเพราะเหตุนี้ จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพราะไม่ได้อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 23 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ส่วนพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพ.ศ. 2485 มาตรา 37 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2507 มาตรา 17 และพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 เป็นมาตราที่กำหนดโทษในการกระทำความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์”
พิพากษายืน