คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลชั้นต้นชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้ออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา พนักงานอัยการโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความชอบที่จะขอให้ดำเนินการบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ โดยการบังคับคดีของพนักงานอัยการโจทก์นอกจากที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 249 (เดิม) แล้ว กรณีที่ ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ ก็อาจดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้ด้วย ทั้งนี้ มิต้องคำนึงว่าพนักงานอัยการโจทก์จะเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (4) (13), 24, 27 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 55, 72 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ไม่มีสิทธิดำเนินการขอให้บังคับคดีในทางแพ่ง และศาลชั้นต้นมิได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 คัดค้านคำขอให้ออกหมายบังคับคดีนั้นก่อน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 แลที่ 2 ฎีกาว่า พนักงานอัยการโจทก์มิใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จึงไม่มีอำนาจบังคับคดีในส่วนแพ่งได้นั้น เห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุนั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้ออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษา พนักงานอัยการโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีชอบที่จะขอให้ดำเนินการบังคับจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ โดยการบังคับคดีของพนักงานอัยการโจทก์นอกจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 (เดิม) แล้ว กรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีความอาญามิได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ พนักงานอัยการโจทก์ก็อาจดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ด้วย ทั้งนี้ มิต้องคำนึงว่าพนักงานอัยการโจทก์จะเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาหรือไม่ มิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็จะไร้ผลบังคับ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share