แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานสอบสวนเชิญจำเลยไปให้ถ้อยคำในฐานะพยานที่สถานีตำรวจโดยไม่ได้ออกหมายเรียก จำเลยยอมมาโดยดีและพนักงานสอบสวนบอกจำเลยว่าจะสอบสวนเป็นพยานย่อมหมายความว่าสั่งให้จำเลยให้ถ้อยคำ คำสั่งของพนักงานสอบสวนเช่นนี้จึงเป็นคำบังคับตามกฎหมายให้จำเลยให้ถ้อยคำ เมื่อจำเลยขัดขืนคำบังคับดังกล่าว ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 169 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจขัดขืนคำบังคับตามกฎหมายของร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์ ผ่องหิรัญ พนักงานสอบสวนที่บังคับให้จำเลยให้ถ้อยคำในฐานะพยาน โดยจำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้การแล้วเดินลงจากสถานีตำรวจไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 169
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำบังคับตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 169 หมายถึงคำบังคับซึ่งออกโดยกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้ ตามกฎหมายอาญา (ที่ถูกควรเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะเรียกบุคคลใดไปสอบสวนเป็นพยานโดยไม่จำต้องออกหมายเรียก ดังนี้ พนักงานสอบสวนเชิญตัวจำเลยไปเพื่อให้การเป็นพยานในคดีอาญา โดยไม่ได้ออกหมายเรียกแม้จำเลยขัดขืนก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 169 ประมวลกฎหมายอาญา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยมาพบและอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนบอกจำเลยว่าจะสอบสวนเป็นพยานในคดีอาญา ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้ออกคำบังคับให้จำเลยให้ถ้อยคำแล้ว จำเลยขัดขืนไม่ยอมให้ถ้อยคำและกลับไปเสีย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 169 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 169 ปรับ 300 บาท
จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยไปให้การเป็นพยานที่สถานีตำรวจโดยไม่ได้ออกหมายเรียก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยขัดขืนก็ยังไม่มีความผิด
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงที่เป็นอันยุติว่า จำเลยได้รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์ ผ่อหิรัญ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีข้อหาว่า นางใช้สิ่ว แซ่อึ้ง ใช้แท่งเหล็กทำร้ายร่างกายนางบุญยืน ปัญจะ พี่สาวจำเลย ร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์ต้องการสอบสวนจำเลยเป็นพยานในคดีดังกล่าวนี้ ในวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์จึงให้พลตำรวจไปเชิญจำเลยมาสอบสวนที่สถานีตำรวจอำเภอบางมูลนาก จำเลยได้มาหาร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์ในวันนั้นร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์บอกจำเลยว่าจะสอบสวนจำเลยเป็นพยาน จำเลยพูดว่า ถ้าจำเลยให้การเป็นพยานในวันนั้น จำเลยก็ยังต้องไปให้การที่ศาลอีก เสียเวลาค้าขาย จำเลยไม่ยอมให้การ นอกจากนี้เมื่อจำเลยไม่ยอมให้การต่อร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์แล้ว ร้อยตำรวจเอกวัชระ กลัมพะเหติ หัวหน้าพนักงานสอบสวนยังได้เรียกจำเลยไปชี้แจงและบอกจำเลยให้ให้การอีก จำเลยก็ยังไม่ยอมอยู่เช่นเดิม
ศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวข้างต้นนั้นเห็นว่า แม้ร้อยตำรวจตรีสัมฤทธิ์พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยไปให้การเป็นพยานที่สถานีตำรวจอำเภอบางมูลนาก โดยไม่ได้ออกหมายเรียกก็ตามจำเลยก็ได้ยอมมาที่สถานีตำรวจแล้ว โดยมิได้ขัดขืนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงไม่อยู่ที่ตอนนี้ หากอยู่ในตอนที่ว่าจำเลยขัดขืนไม่ยอมให้การต่อพนักงานสอบสวน จะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 กำหนดอำนาจหน้าที่ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด การที่พนักงานสอบสวนคดีที่นางใช้สิ่ว แซ่อึ้ง เป็นผู้ต้องหาต้องการสอบสวนจำเลยนี้เป็นพยาน ก็เป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนั้นและเมื่อให้ตำรวจไปเชิญจำเลยมายังสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางมูลนากนั้น ก็ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วว่าให้มาเพื่อการสอบสวน เมื่อจำเลยยอมมาโดยดีและพนักงานสอบสวนบอกจำเลยว่าจะสอบสวนจำเลยเป็นพยาน ย่อมหมายความว่าสั่งให้จำเลยให้ถ้อยคำนั่นเอง คำสั่งของพนักงานสอบสวนเช่นนี้จึงเป็นคำบังคับตามกฎหมาย ให้จำเลยให้ถ้อยคำแล้ว เมื่อจำเลยขัดขืนคำบังคับดังกล่าวนี้ ย่อมมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 169 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน