คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ ระหว่างที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ ต่อมาจำเลยทำสัญญากับ ภ. ว่าไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิไถ่ถอน ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ภ. ถือได้ว่า เป็นการขายขาดที่ดินให้แก่ ภ. โดยทำสัญญากันเอง จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่และภายในกำหนดระยะการขายฝาก จำเลยย่อมมีสิทธินำที่ดินไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 497 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิไถ่การขายฝากที่ดินดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระมัดจำในวันทำสัญญา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลืออีก ๔๓๐,๐๐๐ บาท จะชำระเมื่อจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านตามฟ้องไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์ก็ทราบดีว่า ทรัพย์พิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นกรรมสิทธิ์ของ ภ. จำเลยมิใช่เจ้าของทรัพย์สิน จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๑๖๗ ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ ๖๐/๑ แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา ๔๙๑ บัญญัติว่า “ขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้” ดังนั้น สัญญาขายฝากจึงเป็นสัญญาซึ่งผู้ซื้อรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากไปจากผู้ขายฝาก โดยมีเงื่อนไขบังคับหลังว่า เมื่อผู้ขายฝากมาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดระยะเวลาขายฝากแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากก็จะเปลี่ยนมือกลับมาเป็นของผู้ขายฝากตามเดิม ดังนั้น การที่จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ มีกำหนดไถ่ถอน ๓ ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๓ ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยได้ทำสัญญาต่างตอบแทนกันเองระหว่างจำเลยกับ ภ. ว่าจำเลยไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิในการไถ่ถอนทรัพย์พิพาท อันถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขายขาดทรัพย์พิพาทให้แก่ ภ. ผู้รับซื้อฝากโดยทำสัญญากันเอง สัญญาขายขาดฉบับหลังนี้จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นจำเลยผู้ขายฝากจึงยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากรายนี้ได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่ ดังนั้น ภายในกำหนดระยะการขายฝากจำเลยย่อมมีสิทธินำทรัพย์พิพาทไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๙๗ ก็ยังได้กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากไว้ และใน (๒) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มีสิทธิไถ่ทรัพย์พิพาทได้ด้วย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๘,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share