คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) คนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 5 มีสิทธิขับรถผ่านสี่แยกไปก่อนได้ก็ ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิขับรถเข้าไปในสี่แยกโดยไม่คำนึงหรือไม่ระมัดระวังหรือไม่ดูว่ามียานพาหนะอื่นแล่นเข้ามาในสี่แยกหรือไม่ ที่เกิดเหตุเป็นสี่แยกมีทางเดินรถหลายช่องทาง ผู้ขับขี่ยวดยานทุกคนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าการขับไปตามถนนอย่างธรรมดา การที่คนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 5 ขับรถด้วยความเร็วสูงเข้าไปในสี่แยกทั้ง ๆ ที่มีรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3แล่นเข้ามาพร้อมกันจนชนกันอย่างแรงถือว่าเป็นความประมาทของคนขับรถของจำเลยที่ 5 ด้วย แม้คนงานของโจทก์จะมีเงินเดือนประจำ และมีงานทำเป็นปกติแต่เมื่อต้องทิ้งงานดังกล่าวและมาทำงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลย โจทก์ย่อมเรียกค่าแรงในการทำงานดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัยและเป็นนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันนี้ จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นนายจ้างของผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย บรรทุกโคไปในทางการที่จ้าง ลูกจ้างของจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร บรรทุกเสาเข็มไปในทางการที่จ้างขณะที่รถทั้งสองคันดังกล่าวแล่นมาถึงบริเวณสี่แยกบางกะปิ ผู้ขับรถทั้งสองคันขับรถด้วยความประมาทไม่ชะลอความเร็วลง และดูรถที่แล่นมาทุกด้านให้ปลอดภัยเสียก่อนแล้วค่อยขับผ่านไปแต่กลับเร่งความเร็วขึ้นเป็นเหตุให้รถชนกัน และรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395สุโขทัย พลิกคว่ำ รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629กรุงเทพมหานคร เสียหลักพุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้าทำให้เสาไฟฟ้าหักอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย เป็นเงิน 67,401.33 บาท ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ กับดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน04395 สุโขทัย และไม่ได้เป็นนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร ฝ่ายเดียว โจทก์เสียหายไม่เกิน5,000 บาท
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 72,456.43 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 67,401.33 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยที่ 5 กับที่ 6 ร่วมกันใช้เงินแก่จำเลยที่ 4 จำนวน 14,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของจำเลยที่ 4 นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 4 ทั้งสิ้นนอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัยเป็นของจำเลยที่ 3 และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3เป็นนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลยที่ 5และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 5 เป็นนายจ้างของคนขับรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2525เวลา 5 นาฬิกาเศษ รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัยบรรทุกโคแล่นมาตามถนนสุขาภิบาล 1 มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือซึ่งต้องผ่านสี่แยกหน้าสำนักงานเขตบางกะปิ และรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร บรรทุกเสาเข็มแล่นมาตามถนนสุขาภิบาล 2 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งต้องผ่านสี่แยกหน้าสำนักงานเขตบางกะปิเช่นกัน เมื่อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันแล่นมาถึงสี่แยกดังกล่าว ได้ชนกันตรงกลางสี่แยก รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย พลิกคว่ำอยู่ตรงสี่แยกค่อนไปทางถนนลาดพร้าวซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629กรุงเทพมหานคร แล่นเลยไปชนเสาไฟฟ้าของโจทก์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าหัก หม้อแปลงและอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย มีรอยถูกชนที่บังโคลนหน้าด้านซ้าย รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครมีรอยถูกชนที่บังโคลนหน้าด้านขวา ถนนสุขาภิบาล 1 และ 2 เป็นทางเอกด้วยกัน ประเด็นข้อแรก คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน04395 สุโขทัย ประมาทฝ่ายเดียว โดยคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) หรือไม่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้ามาถึงทางแยกทางร่วมพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน…” ข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้จะฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันมาถึงทางแยกพร้อมกัน คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย ต้องยอมให้รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ทางซ้ายผ่านไปก่อน การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวของคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395สุโขทัย ที่ไม่ยอมให้รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629กรุงเทพมหานครผ่านไปก่อน จนเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกันตรงกลางสี่แยก นับว่าเป็นเหตุหนึ่งของความประมาทของคนขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย แต่แม้จะมีกฎหมายดังกล่าวซึ่งทำให้คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครมีสิทธิขับรถผ่านสี่แยกไปก่อนได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร จะมีสิทธิขับรถเข้าไปในสี่แยกโดยไม่คำนึงหรือไม่ระมัดระวังหรือไม่ดูว่ามียานพาหนะอื่นแล่นเข้ามาในสี่แยกหรือไม่ ที่เกิดเหตุเป็นสี่แยกมีทางเดินรถหลายช่องทางผู้ขับขี่ยวดยานทุกคนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าการขับไปตามถนนอย่างธรรมดา การที่คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร ขับรถเข้าไปในสี่แยก ทั้ง ๆ ที่มีรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395สุโขทัย แล่นเข้ามาพร้อมกัน และตามภาพถ่ายความเสียหายเห็นได้ว่ารถยนต์ชนกันอย่างแรง ซึ่งก็ต้องเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงของคนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครนั้นเองด้วย การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความประมาท พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) ไม่ได้คุ้มครองให้คนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครพ้นผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629กรุงเทพมหานคร ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อสอง ค่าเสียหาย โจทก์มีนายชลัต เรืองวิเศษ เบิกความว่า พยานเป็นหัวหน้าหมวดติดตั้งเครื่องวัดเขตจำหน่ายบางกะปิที่เกิดเหตุ และได้ซ่อมแซมความเสียหายรายนี้ ซึ่งต้องเปลี่ยนเสาไฟฟ้าที่หัก เปลี่ยนหม้อแปลงที่ชำรุด และอุปกรณ์ กับมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 67,000 กว่าบาทปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.13 ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความโดยมีหลักเกณฑ์ ปรากฏตามเอกสารดังกล่าว จึงน่าเชื่อถือที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า นายประเสริฐ ชูสินทอง พยานโจทก์เบิกความว่า หม้อแปลงไฟฟ้าซ่อมได้ การที่โจทก์เปลี่ยนใหม่จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบนั้น ความจริงนายประเสริฐเบิกความว่า หม้อแปลงไฟฟ้าที่ว่าเสียนั้นซ่อมได้ แล้วเบิกความใหม่ว่า จะซ่อมได้หรือไม่ข้าฯ ไม่ทราบและนายชลัตพยานโจทก์ผู้ซ่อมแซมความเสียหายรายนี้เบิกความว่า หม้อแปลงได้เปลี่ยนใหม่ ส่วนเครื่องเก่าข้าฯ เข้าใจว่านำไปซ่อม ข้าฯ เข้าใจว่าใช้การไม่ได้แล้วศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้าต้องเลือกและดูแลอย่างดีเพราะอาจเกิดอันตรายได้โดยง่าย การที่รถยนต์ชนอย่างแรงจนเสาไฟฟ้าหัก ย่อมกระทบกระเทือนองค์ประกอบต่าง ๆของอุปกรณ์ไฟฟ้าในบริเวณนั้น ฉะนั้น การที่โจทก์เปลี่ยนแปลงไฟฟ้าใหม่จึงชอบด้วยเหตุผล และที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า คนงานของโจทก์มีเงินประจำอยู่แล้ว จึงเป็นการไม่ชอบที่โจทก์เรียกเอาค่าแรงอีกนั้น นายชลัตพยานโจทก์ผู้ซ่อมแซมความเสียหายรายนี้เบิกความว่าคนงานมีงานประจำ แต่ต้องทิ้งงานดังกล่าวและรีบมาทำงานนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คนงานของโจทก์จะมีเงินเดือนเป็นประจำและมีงานทำเป็นปกติแต่เมื่อต้องทิ้งงานดังกล่าวและมาทำงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลย โจทก์ก็ย่อมเรียกค่าแรงในการทำงานดังกล่าวได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในประเด็นนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share