แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานฉ้อโกงค่าจ้างแรงงานตามประมวลกฎมายอาญามาตรา 344 นั้นจะต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายในขณะที่ตกลงจะให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตนโดยเจตนาจะไม่ใช่ค่าแรงงาน หรือค่าจ้างหรือจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลง จึงจะเป็นความผิดได้ ถ้าหากไม่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเช่นนั้นในขณะที่จะตกลงกัน แต่เป็นเรื่องตกลงกันมาแล้ว จึงมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่อาจใช้ค่าแรงงานหรอืค่าจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น จะปรับบทเป็นความผิดทางอาญาหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๔
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้จ้างผู้เสียหายทั้ง ๑๑ คนให้ลอกปอและฟาดปอ โดยจะให้ค่าจ้างเป็นรายวัน ๆ ละ ๑๐ บาทก็มี คิดเหมาลอกปอ ๑๓ กำเป็น ๑ แรง หรือฟาดปอ ๑๐๐ กำเป็น ๑ แรง ค่าจ้างแรงละ ๑๐ บาทก็มี ผู้เสียหายลอกปอและฟาดปอให้จำเลยแล้วไม่ได้รับค่าจ้างตามจำนวนที่โจทก์กล่าวหานั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ได้จ้างผู้เสียหายบ่ายเบี่ยงไปเป็นคนอื่นเป็นผู้จ้างนั้นฟังหักล้างพยานโจทก์ไม่ได้ และเห็นว่าตามพฤติการณ์ที่จำเลยผัดไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่ผู้เสียหาย ย่อมเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตสมดังฟ้องพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นแต่เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมา ไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงจะไม่ให้ค่าจ้างผู้เสียหาย หรือจะให้ต่ำกว่าที่ได้ตกลงกันมา แต่แรกแต่อย่างใดเลย รูปเรื่องเป็นการผิดสัญญา หาใช่เป็นการหลอกลวงโดยทุจริตดังฟ้องไม่ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า อันความผิดฐานฉ้อโกงค่าจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๔ ซึ่งเป็นบทที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยนั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายในขณะที่ตกลงจะให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตน โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง หรือจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลง จึงจะอาจเป็นความผิดได้ ถ้าหากไม่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเช่นนั้นในขณะที่จะตกลงกัน แต่เป็นเรื่องที่ตกลงกันมาแล้วจึงมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่อาจใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น จะปรับบทเป็นความผิดทางอาญาหาได้ไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ตามรูปเรื่องจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงจะไม่ให้ค่าจ้างผู้เสียหาย ในขณะที่จะตกลงว่าจ้างกันนั้นเลย ที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ผู้เสียหายไม่ครบถ้วนบ้าง ยังไม่ได้จ่ายให้เลยบ้าง ก็เพราะมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลยในตอนหลัง ต้องถือว่าเป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น การที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้จ้างผู้เสียหายก็เพิ่งมาปฏิเสธเมื่อจำเลยเข้าตาจนถูกเจ้าหนี้พากันบีบบังคับจะให้ชำระหนี้ อันเป็นการหาทางเอาตัวรอดไปทีเท่านั้น จะถือว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายมาแต่ต้นหาได้ไม่
พิพากษายืน