คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19500/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รวม 7 คน สวมชุดพนักงานของจำเลยเล่นการพนันหลังจากเลิกงาน ณ สถานที่ภายนอกที่ทำการของจำเลย แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม แม้การกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจำเลยอยู่บ้าง แต่ผู้เสื่อมเสียจากการกระทำนั้นโดยตรงคือโจทก์รวม 7 คน นั่นเอง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง

ย่อยาว

รายชื่อโจทก์ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1
คดีทั้งเก้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 1 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 และเรียกจำเลยทั้งเก้าสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งเก้าสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมทั้งดอกเบี้ยและเงินโบนัสตามฟ้องโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 1 โจทก์ที่ 5 และที่ 8 รวม 2 คน ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาต เหลือโจทก์รวม 7 คน
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 60,240 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,190 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 5,190 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 53,520 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 53,666 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 38,968 บาท และโจทก์ที่ 9 จำนวน 5,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 2 ธันวาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์รวม 7 คน เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 วันที่ 21 พฤษภาคม 2550 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 วันที่ 19 ตุลาคม 2545 วันที่ 21 สิงหาคม 2545 วันที่ 5 มิถุนายน 2543 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 ตามลำดับ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้อง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 โจทก์รวม 7 คน กับพวกเล่นการพนันไฮโล ที่ห้องโต๊ะสนุกเกอร์ของร้านอาหารคุ้มนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมและแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์รวม 7 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์รวม 7 คน ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในขณะที่เล่นการพนันไฮโลซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาหลังจากเลิกงานแล้วและสถานที่ดังกล่าวอยู่ภายนอกบริษัทจำเลย ถึงแม้โจทก์รวม 7 คน จะกระทำความผิดระเบียบของจำเลยที่ระบุว่าพนักงานต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบอันดีงามของสังคมและจารีตประเพณี และห้ามพนักงานชักชวนให้พนักงานอื่นทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม ถือว่าโจทก์รวม 7 คน บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงเลิกจ้างโจทก์รวม 7 คน ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์รวม 7 คน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่การกระทำผิดระเบียบดังกล่าวไม่เป็นการกระทำความผิดในกรณีร้ายแรง จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 มาตรา 119 โจทก์รวม 7 คน จึงได้รับค่าชดเชย จำเลยเลิกจ้างโจทก์รวม 7 คน โดยมีสาเหตุที่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้าง ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์รวม 7 คน หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์รวม 7 คน เป็นความผิดมีโทษถึงจำคุก และศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาลงโทษปรับโจทก์รวม 7 คน ขณะเล่นการพนันโจทก์รวม 7 คน สวมเครื่องแบบพนักงาน โจทก์รวม 7 คน รู้ระเบียบข้อบังคับในการทำงานดีว่าพนักงานต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบอันดีงามของสังคมและจารีตประเพณี และห้ามพนักงานชักชวนพนักงานอื่นกระทำการใด ๆ ที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมตามระเบียบในการทำงานข้อย่อยที่ 1.11 และ 1.44 แต่กลับชักชวนกันเล่นการพนันไฮโลพนันเอาทรัพย์สินกันโดยโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อโจทก์รวม 7 คน ถูกควบคุมตัวทำให้จำเลยเสียหายจากการขาดแรงงานจากโจทก์รวม 7 คน จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์รวม 7 คน นั้น เห็นว่า โจทก์รวม 7 คน เล่นการพนันไฮโลหลังจากเลิกงานแล้วและสถานที่ดังกล่าวก็อยู่ภายนอกบริษัทจำเลย แม้การกระทำของโจทก์รวม 7 คน จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจำเลยอยู่บ้าง แต่ผู้ที่เสื่อมเสียจากการกระทำดังกล่าวโดยตรงก็คือโจทก์รวม 7 คน นั่นเอง ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์รวม 7 คน ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์รวม 7 คน โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์รวม 7 คน ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์รวม 7 คน ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share