คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันภัยไว้กับจำเลยโดยระบุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ตราบใดที่ยังไม่ได้แสดงเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิตามสัญญานั้นได้ เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แสดงว่าได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเองได้ จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เช่าสถานที่ของวัดเป็นที่จอดและอู่ซ่อมรถ บริเวณดังกล่าวมีประตูเข้าออกทางเดียว แม้ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยแต่ก็มีผู้ดูแลถือว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังในการสงวนทรัพย์สินเช่นวิญญูชนพึงประพฤติตามพฤติการณ์แล้ว รถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ และเมื่อทราบเหตุโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งจำเลยและแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันที แต่ขาดหลักฐานการมอบอำนาจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก.ทำให้การแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรล่าช้า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงยังต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 6 ท – 7045 กรุงเทพมหานคร ได้นำไปเอาประกันภัยไว้กับจำเลยประเภทชดใช้ความเสียหายโดยสิ้นเชิง แต่ไม่เกินจำนวนทุนทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้คือจำนวน 430,000 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 15สิงหาคม 2536 เวลา 21 นาฬิกา ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 เวลา 6 นาฬิการถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยดังกล่าวได้หายไป โจทก์ทวงถามให้จำเลยใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 430,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 494,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 430,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับประโยชน์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เองที่มิได้ใช้ความระมัดระวังอย่างวิญญูชนที่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของตนเองตามปกติ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ และเมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหาย โจทก์เพิ่งแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2536 และแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2536 เป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.4 กับข้อ 1.6 กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งเหตุให้จำเลยทราบและแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ชักช้า และตามเงื่อนไขข้อ 1.10 เป็นเงื่อนไขบังคับก่อน การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจทราบเนิ่นช้าดังกล่าวทำให้จำเลยเสียหายยากต่อการติดตามเอารถคืน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนการที่รถยนต์สูญหายไปนั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาฐานลักทรัพย์ตามกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดทุนประกันภัย 350,000 บาท หากจำเลยต้องรับผิดจึงต้องรับผิดเพียง 350,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2538จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ท – 7045 กรุงเทพมหานครซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด และนำรถยนต์คันดังกล่าวเอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยระบุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์ได้เช่าพื้นที่ของวัดเทพนารี เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นที่จอดรถประมาณ 50 คันรวมทั้งรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ต่อมาระหว่างวันที่ 15 ถึง 16สิงหาคม 2536 รถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยได้สูญหายไปปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากการที่โจทก์นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันภัยไว้กับจำเลยโดยระบุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัดเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนี้ โจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญา ซึ่งโดยปกติจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลตอบแทนซึ่งกันและกันตามสัญญา แต่โจทก์ระบุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374ซึ่งเป็นข้อยกเว้นจากหลักทั่วไป และตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวแม้ว่าคู่สัญญาจะได้ทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกแล้วสิทธิของบุคคลภายนอกก็หาได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากทำสัญญาไม่แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้น ตราบใดที่บุคคลภายนอกยังไม่ได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิตามสัญญานั้นได้แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ได้ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ซึ่งแสดงว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป และเมื่อโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเสียเองได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่า การที่รถยนต์คันดังกล่าวหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์จนเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางศิรินันท์ ดวงประเสริฐดี นางสาวสุวรรณ พฤกษายิ่งเจริญ และนายโสพิน สุวรรณสุข พยานโจทก์ว่า โจทก์เช่าพื้นที่วัดเทพนารีแขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นที่จอดรถและอู่ซ่อมรถ รถที่จอดมีทั้งหมด 50 คัน รวมทั้งรถคันที่เอาประกันภัยด้วย โดยนางสาวสุวรรณและนายโสพินเป็นผู้ดูแล บริเวณวัดมีประตูเข้าออกทางเดียว โจทก์ไม่ได้จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยมาเฝ้าดูแล เห็นว่า โจทก์ได้เช่าสถานที่ของวัดเป็นที่จอดรถและอู่ซ่อมรถ บริเวณดังกล่าวมีประตูเข้าออกทางเดียวแม้ว่าจะไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่ก็มีผู้ดูแลซึ่งถือว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังในการสงวนทรัพย์สิน เช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติตามพฤติการณ์แล้ว รถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิด

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่แจ้งเหตุให้จำเลยทราบและแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ชักช้าหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจเอกกฤษฎานำธงไชย มาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2536 เวลา 10 นาฬิกาขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุอยู่ได้รับแจ้งจากนายโสพินว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ท – 7045 กรุงเทพมหานคร ได้สูญหายไปและไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางพลัดก่อนแล้วแต่พนักงานสอบสวนบอกว่ายังแจ้งความไม่ได้เนื่องจากนายโสพินไม่ได้เป็นเจ้าของรถในวันที่นายโสพินมาแจ้งกับสิบตำรวจเอกกฤษฎาสิบตำรวจเอกกฤษฎาได้แจ้งทางวิทยุให้กับทางศูนย์และทางศูนย์ได้แจ้งให้กับเครือข่ายทราบซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโทประธาน แจ่มดวง พยานจำเลยที่เบิกความว่า การที่พนักงานวิทยุจะมีอำนาจแจ้งเหตุให้สกัดรถที่สูญหายจะต้องมีคำสั่งของพนักงานสอบสวน หากเหตุรถสูญหายยังไม่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ผู้เสียหายมาติดต่อแจ้งเรื่องสูญหายด้วยตนเอง ก็อาจขอให้พนักงานวิทยุแจ้งสกัดจับรถที่สูญหายได้ และโจทก์ยังมีนายโสพินมาเบิกความอีกว่าในวันที่ 16 สิงหาคม 2536 นายโสพินไม่สามารถแจ้งความได้เนื่องจากไม่มีใบมอบอำนาจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัดพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ศูนย์วิทยุช่วยติดตามรถคืนและนายโสพินได้แจ้งให้จำเลยทราบทางโทรศัพท์ แต่จำเลยแจ้งว่านายโสพินไม่มีใบมอบอำนาจและไม่มีบันทึกประจำวันการแจ้งรถหายแนะนำว่าให้ไปนำใบมอบอำนาจของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัดและใบแจ้งความมาให้จำเลย เห็นว่า เมื่อทราบเหตุโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งจำเลยและแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันที แต่โจทก์ขาดหลักฐานการมอบอำนาจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคินจำกัด จึงทำให้การแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรล่าช้า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share