แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อยังมิได้จดทะเบียนสิทธิ ดังนี้โจทก์ก็จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1299 วรรคสอง.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ และศาลสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์จำเลยทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ขณะจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกันเป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 นั้นเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในฐานะครอบครองปรปักษ์ (โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2525) และในวันที่จำเลยทั้งสองไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ศาลชั้นต้นก็ยังไม่มีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบเรื่องที่โจทก์ไปยื่นคำร้องดังกล่าวแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองประกอบชอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนจำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาททั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้สิทธิที่พิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อยังมิได้จดทะเบียนสิทธิก็จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อคดีฟังได้เช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องกันมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.