คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทอยู่ในนิคมสร้างตนเองและอยู่ในความดูแลครอบครองของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งได้จัดสรรให้ ฮ. ใช้ประโยชน์ ฮ.ได้ปลูกบ้านพิพาทและให้จำเลยครอบครองเปิดเป็นร้านอาหาร ต่อมา ฮ. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทพร้อมสิทธิในที่ดินแก่โจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง แม้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะปลูกสร้างบนที่ดินของทางราชการก็ตาม การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่งเช่นกัน แต่เมื่อสัญญาระหว่าง ฮ. กับโจทก์เป็นการซื้อขายกันเองจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทได้ และแม้กรมประชาสงเคราะห์จะทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทในลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ก็ตาม ก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิ โจทก์ก็ไม่อาจบังคับบุคคลอื่นนอกจากคู่สัญญาได้ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทและโจทก์ยังไม่อาจเข้าครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินจากกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อประมาณกลางปี 2541 จำเลยได้เข้าอาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์หรือกรมประชาสงเคราะห์ ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ห้ามมิให้เข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปและให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า บ้านพร้อมที่ดินตามฟ้องไม่ใช่ของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ที่ดินในนิคมสร้างตนเองธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อยู่ในความครอบครองดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ และได้จัดสรรให้ราษฎรเข้าไปจับจองใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทตามฟ้องเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในนิคมสร้างตนเองธารโตดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมนางฮามิด๊ะ รานิง เป็นผู้ได้รับจัดสรรและใช้ประโยชน์ นางฮามีด๊ะได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 68 บนที่ดินพิพาทและได้ให้จำเลยครอบครองเปิดเป็นร้านขายอาหาร ต่อมานางฮามีด๊ะได้โอนบ้านด้งกล่าวพร้อมสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์และกรมประชาสงเคราะห์ได้ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 68 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยยังคงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางฮามีด๊ะเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเองจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อขายกันตามสัญญาขายฝากดังกล่าวได้ ส่วนหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรมประชาสงเคราะห์ตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิอันเป็นสิทธิเหนือบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น โจทก์ไม่อาจบังคับบุคคลอื่นนอกจากคู่สัญญาได้ เมื่อได้ความว่าจำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตามฟ้องอยู่ก่อน โดยโจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาเช่าที่ทำกับกรมประชาสงเคราะห์ โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาท และถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า นายอูมา แวอูเซ็ง ผู้ให้จำเลยเช่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้รับโอนสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์ การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของนายอูมาจึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตนิคมสร้างตนเอง กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ดินของทางราชการ การทำสัญญาซื้อขายบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวจึงไม่จำต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ส่งมอบการครอบครองและได้ปฏิบัติมาตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่ทางราชการได้กำหนดก็เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและถือว่าผู้นั้นมีสิทธิแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางฮามิด๊ะเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขายอย่างหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งแบบของสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดบัญญัติว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินของทางราชการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำตามแบบของมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้นด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว โดยอ้างคำเบิกความของนางสาวเพ็ญรุ่ง สุขอนันต์ เจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ ที่เบิกความว่า โจทก์ได้โอนสิทธิ (ที่ถูกรับโอนสิทธิ) มาจากผู้ได้รับอนุญาตจากนิคมสร้างตนเอง นางฮามีด๊ะผู้ได้รับสิทธิจากนิคมจะต้องทำสัญญาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรมประชาสงเคราะห์เป็นคู่สัญญาและนายอำนวย รองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ลงนามในฐานะตัวแทนของกรมประชาสงเคราะห์ กับเบิกความอีกตอนหนึ่งว่าผู้ที่จะอ้างสิทธิในที่ดินของนิคมจะต้องเป็นผู้ได้รับสัญญาจากนิคมโดยถูกต้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 บัญญัติถึงหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังและโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า ขณะที่นางฮามีด๊ะโอนสิทธิในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และกรมประชาสงเคราะห์ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยครอบครองเปิดเป็นร้านขายอาหารอยู่ แสดงว่าโจทก์เพียงแต่ได้รับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิจากกรมประชาสงเคราะห์เท่านั้น แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าไปยึดถือครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทเลย โจทก์ย่อมยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 ดังกล่าวข้างต้น ข้อกล่าวอ้างตามฎีกาของโจทก์แม้จะรับฟังได้ว่ากรมประชาสงเคราะห์ได้ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวถูกต้องตามระเบียบราชการแล้วก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทแล้วเท่านั้น แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ย่อมยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินพิพาทตามฟ้อง การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอยู่นั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิดังกล่าวของโจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้”
พิพากษายืน

Share