แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม2516 ฉะนั้นอายุความเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแก่มูลละเมิดซึ่งมี 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น จึงครบกำหนดในวันที่ 2 มีนาคม2517 แต่ปรากฏว่าวันที่ 2 และวันที่ 3 มีนาคม 2517 ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีในวันที่ 4 มีนาคม 2517 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 และข้อเท็จจริงที่ว่าวันที่ 2 และวันที่ 3 มีนาคม 2517 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คู่ความไม่จำเป็นต้องนำสืบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ได้มอบอำนาจให้นายบุญมีศรีธระชิยานนท์ ฟ้องคดีแทน จำเลยเป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าทางรับจ้างขนส่งคนโดยสารรถยนต์ประจำทาง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2516 ลูกจ้างจำเลยได้ขับรถยนต์ประจำทางไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเร็วสูงและกินทางเข้าไปในช่องทางที่รถยนต์ของโจทก์ขับเป็นเหตุให้ชนรถโจทก์เสียหายยับเยินจำเลยเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของคนขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างจึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิด
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประเด็น และต่อสู้ด้วยว่าโจทก์ทราบเหตุละเมิดตั้งแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ 2 มีนาคม 2516 แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม2517 เป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏชัดว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยต้องรับผิดวันใด โจทก์อาจทราบในวันที่ 2 มีนาคม2516 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุหรือวันรุ่งขึ้นก็ได้ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 4 มีนาคม2517 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังครบ 1 ปีแล้ว 2 วัน คดีจึงขาดอายุความ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ขอให้พิพากษากลับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหามาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วหรือไม่ โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2516 ฉะนั้นอายุความเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแก่มูลละเมิดซึ่งมี 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น จึงครบกำหนดในวันที่ 2 มีนาคม 2517 หาใช่วันที่ 1 มีนาคม 2517 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ปรากฏว่าวันที่ 2 และวันที่ 3 มีนาคม 2517 ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ฉะนั้นแม้จะฟังว่าโจทก์ทราบและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดในวันที่ 2 มีนาคม2516 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องคดีนี้ในวันที่ 4 มีนาคม 2517 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 และข้อเท็จจริงที่ว่าวันที่ 2 และวันที่ 3 มีนาคม 2517 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป คู่ความไม่จำต้องนำสืบตามมาตรา 84(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉะนั้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ได้ หาเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังฎีกาจำเลยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน