แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกัน ข้อ 6 ระบุใจความสำคัญว่า โจทก์สัญญาจะฝากเงินประเภทออมทรัพย์กับจำเลยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของผู้กู้ทุกรายเป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 5 ของต้นเงินที่ผู้กู้แต่ละรายกู้ไปจากจำเลย และโจทก์มอบให้จำเลยหักเงินจำนวนหนี้เพื่อชำระหนี้เมื่อผู้กู้รายหนึ่งรายใดหรือทั้งหมดทุกรายผิดสัญญากับจำเลยเป็นคราว ๆ ไปโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การนับระยะเวลาค้ำประกันให้นับระยะเวลาตามวันทำนิติกรรมของผู้กู้แต่ละราย ประกอบกับทางปฏิบัติที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์เบิกเงินฝากค้ำประกันที่เลยกำหนด 1 ปี รวม 3 ครั้ง โจทก์ยินยอมให้จำเลยกันเงินไว้ทั้ง 3 ครั้ง สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้จำเลย แสดงให้เห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้ในระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี แต่ระยะเวลาขั้นสูงไม่ได้กำหนดไว้เท่านั้น จึงมิใช่การค้ำประกันจำกัดระยะเวลาความรับผิดไว้เพียง 1 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ของลูกค้าแต่ละราย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,408,288.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,349,200.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินฝากค้ำประกัน 910,100 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารชุดโครงการบ้านระเบียงจันทร์ จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการของโจทก์ โดยให้ผู้ที่ซื้อที่ดินและอาคารในโครงการของโจทก์กู้เงินจากจำเลยเพื่อชำระค่าซื้อขายให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โจทก์ต้องฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 79 – 11 – 00720 – 2 เป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 5 ของต้นเงินที่ผู้กู้แต่ละรายกู้ไปจากจำเลยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หากผู้กู้รายหนึ่งรายใดหรือทุกคนผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยงวดใดงวดหนึ่ง จำเลยมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ชำระหนี้ได้ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ลูกค้าในโครงการของโจทก์กู้เงินจากจำเลยรวม 48 ราย เป็นเงิน 86,892,000 บาท คิดเป็นเงินฝากที่ค้ำประกัน 4,344,600 บาท เมื่อครบกำหนดระยะเวลาค้ำประกัน โจทก์ได้เบิกถอนเงินฝากค้ำประกันคืนรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวน 1,803,600 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 1,097,150 บาท ครั้งที่ 3 จำนวน 533,750 บาท จำเลยตรวจสอบแล้วมีลูกค้าภายใต้โครงการของโจทก์ค้างชำระหนี้ 1 งวดขึ้นไป แต่ลูกค้าได้ทำข้อตกลงกับจำเลยหรือได้ทำข้อตกลงประนอมหนี้ไว้กับจำเลย จำเลยจึงกันเงินครั้งที่ 1 ไว้จำนวน 113,696 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 44,238.75 บาท และครั้งที่ 3 จำนวน 24,314.67 บาท รวมกันเงินไว้ 182,249.42 บาท ส่วนที่เหลือทั้งหมดคืนให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ขอเบิกถอนเงินฝากค้ำประกันคืนครั้งสุดท้ายจำนวน 1,349,200.68 บาท จำเลยอนุมัติให้คืนโดยกำหนดให้โจทก์ติดต่อภายใน 10 วัน หากพ้นกำหนดจำเลยมีสิทธิยกเลิกได้ โจทก์ไม่ติดต่อภายในกำหนด จำเลยจึงยกเลิกการอนุมัติและมีสิทธินำเงินฝากค้ำประกันของโจทก์มาหักชำระหนี้ที่ค้างได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าแม้โจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยล่าช้า การแสดงเจตนาคืนเงินฝากค้ำประกันของจำเลยก็ไม่ตกไปและจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินฝากค้ำประกันของโจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการเบิกถอนเงินตามคำอนุมัติ จำเลยจึงนำเงินฝากค้ำประกันของโจทก์มาหักชำระหนี้ที่ค้างชำระของผู้กู้ในโครงการของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิการเบิกถอนเงินฝากค้ำประกันของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินฝากค้ำประกัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันจำกัดระยะเวลาความรับผิดไว้เพียง 1 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ของลูกค้าแต่ละคนหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ที่จำเลยให้โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันและฝากเงินค้ำประกันบางส่วนเพื่อประกันว่า หากลูกหนี้ในโครงการไม่ชำระหนี้จำเลยก็สามารถหักเงินฝากค้ำประกันชำระหนี้ทั้งหมดได้ ที่จำเลยให้โจทก์ถอนเงินฝากค้ำประกันเมื่อเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากจำเลยตรวจสอบแล้วหากลูกหนี้ค้างชำระหนี้จำเลยต้องนำเงินฝากค้ำประกันมาหักชำระหนี้ที่ค้างก่อน ที่เหลือจึงให้โจทก์เบิกไปอันเป็นการใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อ 6 และข้อ 7 จึงหาทำให้กำหนดเวลาค้ำประกันจำกัดความรับผิดมีระยะเวลาเพียง 1 ปี ไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อ 6 ระบุใจความสำคัญว่า โจทก์สัญญาจะฝากเงินประเภทฝากออมทรัพย์กับจำเลยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของผู้กู้ทุกรายเป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 5 ของต้นเงินที่ผู้กู้แต่ละรายกู้ไปจากจำเลย และโจทก์มอบให้จำเลยหักเงินจำนวนหนี้เพื่อชำระหนี้เมื่อผู้กู้รายหนึ่งรายใดหรือทั้งหมดทุกรายผิดสัญญากับจำเลยเป็นคราว ๆ ไปโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การนับระยะเวลาค้ำประกันให้นับระยะเวลาตามวันทำนิติกรรมของผู้กู้แต่ละราย ประกอบกับทางปฏิบัติที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์เบิกเงินฝากค้ำประกันที่เลยกำหนด 1 ปี รวม 3 ครั้ง และโจทก์ยอมให้จำเลยกันเงินไว้ทั้ง 3 ครั้ง สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้จำเลย แสดงให้เห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้ในระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี แต่ระยะเวลาขั้นสูงไม่ได้กำหนดไว้เท่านั้น จึงมิใช่การค้ำประกันจำกัดระยะเวลาความรับผิดไว้เพียง 1 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ของลูกค้าแต่ละรายไม่ ดังเห็นได้จากสัญญาข้อ 1 ที่ระบุว่า โจทก์ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันโดยไม่จำกัดระยะเวลาจนกว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดทุกรายเสร็จสิ้นและข้อ 7 ระบุว่า โจทก์มอบสมุดคู่ฝากออมทรัพย์ตามข้อ 6 ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันตลอดไปจนกว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วน และตกลงให้จำเลยหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากผู้กู้ได้ตามที่จำเลยเห็นสมควรโดยมิต้องแจ้งหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินฝากค้ำประกันแก่โจทก์ 32,282.11 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ