คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ เป็นจำนวนเท่าใด ผิดนัดเมื่อใด พร้อมกับแนบสำเนา หนังสือกู้เงินมาท้ายฟ้อง จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ โดยไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยให้การว่า โจทก์จะได้มอบอำนาจให้ อ. หรือไม่นั้นจำเลยไม่อาจทราบได้เพราะเหตุว่าโจทก์ไม่เคยบอก จำเลย มิได้ปฏิเสธว่าหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ยื่นต่อศาล มิใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 การที่จำเลยไม่ทราบ มิใช่เหตุที่จะทำให้ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์เสียไป คำให้การของจำเลย ไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วน จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่อง อำนาจฟ้อง และกรณีต้องถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจ จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์ไม่ระบุการทวงถามในหนี้ ให้ชัดแจ้งไม่กำหนดเวลาให้แน่นอนเสียก่อนโจทก์นำคดีมาฟ้อง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องอะไร เพราะเหตุใด คำให้การของจำเลย ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นในคดี คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ในข้อนี้จึงเป็นการนอกประเด็น และถือว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ จำเลยจะยกขึ้นฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางอังสนา อุโนทัยฟ้องคดีแทนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2524 จำเลยทั้งเจ็ดทำหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์และรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันโดยจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 10,000 บาท จำเลยที่ 2กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 20,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2525 ปรากฏตามสำเนาหนังสือกู้เงินเอกสารท้ายฟ้อง ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กู้เงินโจทก์ไปจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลยโจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งเจ็ดเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้จำนวน41,956.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีในต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์จะได้มอบอำนาจให้นางอังสนา อุโนทัย หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ทราบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เคยกู้เงินโจทก์และไม่เคยตกลงให้คิดดอกเบี้ยตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2เคยลงชื่อในแบบฟอร์มต่าง ๆ ของโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความและไม่มีเจตนากู้ยืม หรือถ้ามีการกู้ยืมก็เป็นหนี้รายอื่นทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องหรือค้ำประกันแต่ประการใด และโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ฟ้องหนี้รายใด ชนิดใดแม้แต่ในหนังสือมอบอำนาจก็ไม่แจ้งชัดว่าดำเนินคดีแพ่งต่อใครฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม กับโจทก์ไม่ระบุการทวงถามในหนี้ให้ชัดแจ้ง ไม่กำหนดเวลาให้แน่นอนเสียก่อน โจทก์นำคดีมาฟ้องคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 41,956.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของเงินต้น 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วโดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กู้เงินโจทก์เป็นจำนวนเท่าใดผิดนัดเมื่อใด พร้อมกับแนบสำเนาหนังสือกู้เงินมาท้ายฟ้องด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 2 สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้โดยไม่หลงข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มีพยานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์เพียงปากเดียว เห็นว่าจำเลยให้การว่า โจทก์จะได้มอบอำนาจให้นางอังสนา อุโนทัยหรือไม่นั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่อาจทราบได้ เพราะเหตุว่าโจทก์ไม่เคยบอก ขอปฏิเสธ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2มิได้ปฏิเสธว่าหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ยื่นต่อศาล มิใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ทราบ ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์เสียไป คำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องกรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางอังสนา อุโนทัยฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจ นางอังสนา อุโนทัย จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ระบุการทวงถามในหนี้ให้ชัดแจ้ง ไม่กำหนดเวลาให้แน่นอนเสียก่อน โจทก์นำคดีมาฟ้องคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1ที่ 2 มิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องอะไรและเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นในคดี คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นการนอกประเด็น และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2เรื่องอายุความจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share