คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยอื่นปล้นทรัพย์เมื่อศาลลงโทษจำเลยอื่นซึ่งเป็นตัวการฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคสองแม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยที่ 4 นำรถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปใช้ให้จำเลยอื่นกระทำความผิดก็ตาม ก็ลงโทษจำเลยที่ 4ซึ่งเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 340 ตรี ไม่ได้เนื่องจากตามมาตรา 84 ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนตัวการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ให้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันปล้นรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันมีมีดปลายแหลมและเหล็กขูดชาร์พเป็นอาวุธติดตัว ปล้นรถยนต์บรรทุกของผู้อื่นไปโดยทุจริต ในการปล้นทรัพย์จำเลยทั้งสี่ใช้รถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสันเป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83, 84, 33 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบางส่วน จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 15 ปี จำเลยที่ 4 ระวางโทษหนักกว่าอีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา 340 ตรี ให้จำคุก 22 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามควร มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 11 ปี 3 เดือน ริบของกลาง

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา เว้นแต่จะมีประกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 4 ให้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปล้นรถยนต์บรรทุก โดยขับรถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสันไปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไปปล้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี นั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปล้นทรัพย์โดยตรงแต่ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 84 ซึ่งจำเลยที่ 4 ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง มิได้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามมาตรา 340 ตรี เท่ากับพิพากษาว่าไม่ได้ใช้ยานพาหนะในการปล้น ฉะนั้น จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใช้จ้างวานต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ เช่น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยที่ 4 นำรถยนต์ของกลางไปใช้จ้างวานให้จำเลยอื่นกระทำผิดก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 ตรีที่โจทก์ขอให้ลงโทษ

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ให้จำคุก 15 ปี เฉพาะรถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสันหมายเลขทะเบียน 80 – 5099 ให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share