แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหยุดอยู่ในเส้นทาง มีรถยนต์ส่วนบุคคลมาหยุดอยู่ท้ายรถยนต์บรรทุกของจำเลย ป. ขับรถยนต์โดยสารอีกคันหนึ่งฝ่าฝืนกฎหมายชนรถยนต์ส่วนบุคคลดังกล่าวอัดเข้ากับรถบรรทุกของจำเลย เป็นเหตุให้คนบนรถยนต์ส่วนบุคคลได้รับอันตรายแก่กาย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายแก่บุคคลอื่น ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 30 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ข้อ 6 เมื่อจำเลยไม่กระทำการช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกจะเลี้ยวรถข้ามไปยังถนนอีกซีกหนึ่ง ได้หยุดรอรถทางตรงอยู่ในทางเดินรถช่องที่ 3 ชิดเกาะกลางถนน ขณะนั้น นายป้อ เต็มสระน้อย ขับรถยนต์โดยสารมาด้วยความเร็วแซงรถอื่นเข้ามาในทางเดินรถช่องสามโดยไม่ระมัดระวังชนรถยนต์ส่วนบุคคลคันหนึ่งซึ่งจอดรอรถยนต์บรรทุกของจำเลยอยู่อัดเข้ากับรถยนต์บรรทุกของจำเลย เป็นเหตุให้นายสุวรรณ สุจริตซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนบุคคลคันดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ซึ่งจะเป็นความผิดของจำเลยหรือไม่ก็ตาม จำเลยบังอาจไม่กระทำการช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กลับหลบหนีไป ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 15 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 6, 13
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์และอันตรายแก่กาย จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องกระทำการช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยหยุดรถบรรทุกรออยู่ในเส้นทางมีรถยนต์ส่วนบุคคลจอดอยู่ท้ายรถยนต์บรรทุกของจำเลย นายป้อเต็มสระน้อย ขับรถยนต์โดยสารฝ่าฝืนกฎหมายชนรถยนต์ ส่วนบุคคลที่จอดอยู่ท้ายรถยนต์บรรทุกของจำเลย อัดเข้ากับรถจำเลย เป็นเหตุให้นายสุวรรณ สุจริต ซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนบุคคลได้รับอันตรายแก่ร่างกาย การที่จำเลยจอดรถอยู่ในเส้นทางของตนมีรถคันอื่นมาชนรถคันที่จอดท้ายรถของจำเลยอัดเข้ากับรถจำเลย เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายเช่นนี้ เห็นว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดอันตราย การที่จำเลยไม่กระทำการช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ข้อ 6 ที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน