คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รู้เห็นยินยอมในการที่น. นำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.)จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากม. โดยถือตามหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.)โจทก์จะอ้างว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับม. ไม่สมบูรณ์เนื่องจากการซื้อขายครั้งก่อนๆฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามโอนและโจทก์จะใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.)กับขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทหาได้ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 โจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้นายอรุณ อาจคงหาญ ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 208 โจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 205 ตำบลจอมบึงอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน2533 จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกต้นอ้อยและต้นมันสำปะหลังในที่ดินของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกต้นอ้อยและต้นมันสำปะหลังในที่ดินของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองห้ามปรามแต่จำเลยทั้งสองไม่เชื่อฟัง โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดินอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี จึงทราบว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1ที่จำเลยที่ 1 เข้าไปทำประโยชน์นั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628 และ 1637 ตำบลจอมบึงอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628 ออกทับที่ดินของโจทก์ที่ 1ทางด้านทิศตะวันออกเป็นเนื้อที่ 23 ไร่ และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1637 ออกทับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศตะวันตกเป็นเนื้อที่ 48 ไร่ 2 งาน13 ตารางวา ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่จำเลยทั้งสองเข้าไปทำประโยชน์มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1628 และ 1638 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรีโดยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628เป็นของจำเลยที่ 1 ออกทับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกเป็นเนื้อที่ 23 ไร่ และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1638 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ออกทับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ทางด้านทิศตะวันตกเป็นเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน47 ตารางวา เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1628 และ 1638 เป็นของนายมนตรี อร่ามกิจโพธา และเลขที่ 1637 เป็นของนางสุพิตรา อร่ามกิจโพธา ได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินดังกล่าวต่อมา ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628 และ 1637 ที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ที่ 1เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 208 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1628 และ 1638 ที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 205ขอให้พิพากษาว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1628, 1637 และ 1638 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง และให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 208 ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 205
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2517ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 208ให้แก่โจทก์ที่ 1 และเลขที่ 205 ให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนและไม่อยู่ในข่ายบังคับคดีภายใน 10 ปี แต่โจทก์ทั้งสองนำที่ดินดังกล่าวทั้ง 2 แปลงไปขายให้แก่นายมนตรี อร่ามกิจโพธาและนางสุพิตรา อร่ามกิจโพธา เมื่อปี 2517 พร้อมกับส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้ด้วย ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2521นายมนตรีและนางสุพิตรา ยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ที่ดินดังกล่าวโดยความรู้เห็นเป็นใจและความยินยอมของโจทก์ทั้งสองทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1628, 1637 และ 1638 ให้โดยมิได้ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 208, 205 หลังจากนั้นนายมนตรีและนางสุพิตราขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628, 1637 และ 1638 ให้แก่ผู้ซื้อ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางสุรางค์ ธนการพาณิช และนายพีรพงศ์ วัฒนอังกูรผู้มีสิทธิครอบครอง ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องคดีเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินภายใน 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครองคือวันที่ 20 พฤษภาคม 2527 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้อง และโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวก่อน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 205 และ 208 ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม2517 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนและไม่อยู่ในข่ายบังคับคดีภายใน 10 ปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาเมื่อปี 2520โจทก์ทั้งสองขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่นายมนตรี อร่ามกิจโพธาในปี 2521 ทางราชการประกาศให้ผู้ครอบครองที่ดินไปยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) นายมนตรีจึงนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและที่ดินติดต่อกันไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628, 1637 และ 1638 ตามเอกสารหมาย ล.8ถึง ล.10 ให้โดยที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้งสองแปลงที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628และ 1638 มีชื่อนายมนตรีเป็นเจ้าของ ส่วนเลขที่ 1637มีชื่อนางสุพิตรา ภรรยาของนายมนตรีเป็นเจ้าของ ต่อมาวันที่5 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1628 และ 1637 จำเลยที่ 2รับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1638โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องวันที่ 4 พฤศจิกายน 2534
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองรู้เห็นยินยอมในการที่นายมนตรีนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังนี้เมื่อจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยถือตามหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์เนื่องจากการซื้อขายครั้งก่อน ๆ ฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามโอน และจะใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) กับขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษายืน

Share