คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8177/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร่องน้ำระหว่างที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 1 เป็นร่องสวนเดิมที่ขุดขึ้นเพื่อนำน้ำจากคลองสาธารณะเข้ามาใช้ทำสวน ซึ่งมิใช่ลำรางหรือลำกระโดงสาธารณะ แต่สภาพที่ดินพิพาทเป็นร่องสวนที่มีมานานหลายสิบปีน่าจะเป็นร่องน้ำสาธารณะประโยชน์ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียง และจากการที่จำเลยได้ตรวจสอบหลักเขตที่ดินเขตติดต่อกันแต่หลักเขตต่างกัน ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินยังแจ้งว่าหลักทั้งสองห่างกัน 3.16 เมตร ย่อมทำให้จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมเข้าใจว่าระหว่างที่ดินทั้งสองแปลงมีช่องว่างอยู่ และได้ตัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ดังนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตน มิได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเนื่องมาจากการคัดค้านดังกล่าว แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นเพียงผู้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ทำการรังวัด แต่โจทก์ที่ 2ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในฐานที่จำเลยทั้งสี่ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย มิได้ฟ้องคดีโดยอาศัยการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้โจทก์ที่ 2มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ก่อละเมิดให้ตนต้องได้รับความเสียหายได้ หาจำเป็นจะต้อง มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสี่มาก่อนไม่ โจทก์ที่ 2จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยแต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ดำเนินคดีต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนด เจ้าพนักงานที่ดินจึงยกเลิกการรังวัดที่ดินไป กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องมีการดำเนินการต่อไปภายหลังมีคำพิพากษาของศาล ดังนี้คำคัดค้านนั้นย่อมสิ้นสุดไปด้วยศาลฎีกาจึงไม่อาจจะมีคำพิพากษาตามที่โจทก์ที่ 1 ขอได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5151 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน2 โฉนด จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละหนึ่งโฉนดคือโฉนดเลขที่ 22629 และ 22630, 22628,36934, 40335 ตามลำดับ โจทก์ซื้อที่ดินมาจากนายบุญมากส่วนจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินบางส่วนของนางสิน ที่ดินจำเลยทั้งสี่และนางสินด้านทิศตะวันออกติดต่อกับที่ดินของโจทก์ที่ 1ทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5151 ให้โจทก์ที่ 2 เพื่อปลูกสร้างทาวน์เฮ้าส์จำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 8 แปลง ตามข้อตกลงจะขายวันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกไปทำการรังวัด จำเลยทั้งสี่ได้คัดค้านอ้างว่าที่ดินด้านทิศตะวันตกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยทั้งสี่กว้างประมาณ 1 เมตรเศษเป็นลำกระโดงสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะจำเลยทั้งสี่รู้แก่ใจดีมาโดยตลอดจากนางสินเจ้าของที่ดินเดิมว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นท้องร่องสวนซึ่งนางสินและนายบุญมากเจ้าของที่ดินเดิมเป็นเจ้าของกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินมาแล้วได้ก่อสร้างกำแพงรั้วตรงกึ่งกลางท้องร่องสวน เป็นการยอมรับกรรมสิทธิ์ในท้องร่องสวนนั้นแล้วเมื่อโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาจากนายบุญมาก โจทก์ที่ 1 ก็ถมท้องร่องสวนดังกล่าวบางส่วนจำเลยทั้งสี่ได้โต้แย้งคัดค้านประการใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถรังวัดแบ่งแยกโฉนดและโอนขายให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้ นอกจากนี้ในเดือนกันยายน 2530จำเลยที่ 1 ยังได้ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ทั้งสองต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าโจทก์ทั้งสองบุกรุกนำดินถมลำรางน้ำสาธารณะ เป็นการส่อเจตนาทุจริตจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาทางกรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนว่าเป็นลำรางสาธารณประโยชน์นั้น ความจริงเป็นท้องร่องสวนที่เจ้าของขุดขึ้นมาเพื่อการเกษตรและการอุปโภคเท่านั้นผลจากการคัดค้านทำให้โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ 2 ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาไม่ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับชำระค่าที่ดินที่เหลือ 1,179,000 บาทจากโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่เดือนสิงหาคม 2530 ถึงวันฟ้องรวม 10 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 73,687 บาท และโจทก์ที่ 1ต้องถูกโจทก์ที่ 2 ปรับเป็นเงิน 500,000 บาท ด้วย โจทก์ที่ 2ได้ปลูกสร้างทาวน์เฮ้าส์ลงในที่พิพาทและได้ตกลงขายที่ดินและบ้านให้ผู้ซื้อ 8 ราย มีการวางเงินมัดจำบางส่วนหากรังวัดแบ่งแยกโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อได้ โจทก์ที่ 2 จะได้รับเงินส่วนที่เหลืออีก 3,200,000 บาท โครงการปลูกสร้างทาวน์เฮ้าส์จำหน่ายพร้อมที่ดินนี้ โจทก์ที่ 2 ได้กู้ยืมและเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางยี่ขัน มาเป็นทุนหมุนเวียนต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี โจทก์ที่ 2ไม่สามารถนำเงิน 3,200,000 บาท ชำระหนี้ธนาคารจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารมาจนบัดนี้ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ทราบแล้ว โจทก์ที่ 2ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจากต้นเงิน3,200,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2530 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา10 เดือน เป็นดอกเบี้ย 493,333 บาท และนับจากวันฟ้องไป 2 ปีเป็นเงิน 1,184,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 573,687 บาท แก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 1,677,333 บาท รวมเป็นเงิน 2,251,020 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และพิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินเอกสารท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ถอนคำคัดค้านการขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5151ของโจทก์ที่ 1 หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5151 ของโจทก์ที่ 1มิได้มีเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์กล่าวอ้างเพราะมีลำกระโดงหรือลำรางสาธารณะคั่นกลางอยู่ ลำกระโดงนี้กว้างประมาณ 3.16 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตรเศษ มีน้ำจากลำคลองวัดไก่เตี้ยไหลเข้ามา ผ่านที่สายหลายแปลงตลอดปีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้อาศัยใช้น้ำในการทำสวนและเป็นทางระบายน้ำฝนในบริเวณบ้านลงสู่ลำรางนี้ติดต่อกันมา 40 ปีแล้วลำกระโดงนี้จึงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ที่ดินของโจทก์ที่ 1อยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนที่ดินของจำเลยทั้งสี่อยู่ทางทิศตะวันตกของลำรางสาธารณะ ต่างมีหลักเขตโฉนดแยกต่างหากจากกันจำเลยทั้งสี่ทำรั้วกำแพงบ้านบนคันดินของลำรางและอยู่ในหลักเขตโฉนดของแต่ละคนมิได้ทำลงไปจนถึงกลางลำรางสาธารณะดังที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ที่ 1 กับนายสุวัฒน์ เตมียสถิตสามีทราบดีว่าเขตที่ดินนายบุญมากมีเพียงขอบลำรางสาธารณะเท่านั้นต่อมาโจทก์ได้นำดินมาถมลำรางสาธารณะดังกล่าวตลอดความกว้างยาวของลำราง แล้วสร้างตึกแถวจำหน่ายคร่อมที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสี่และเพื่อนบ้านอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงฟ้องโจทก์ในข้อหาละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อศาลแพ่ง ที่ดินโฉนดที่ 5151เป็นของโจทก์ที่ 1 ผู้เดียว โจทก์ที่ 2 มิได้มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยจึงไม่มีอำนาจฟ้องการสร้างตึกแถวจำหน่ายเป็นกิจการค้าภายในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2จำเลยทั้งสี่กระทำการโดยสุจริตป้องกันสิทธิที่เคยใช้ประโยชน์ในลำรางสาธารณะมานานนับสิบปี จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสุวัฒน์ เตมียสถิต สามีโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เดิมนางสินเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1791 ทิศเหนือจดคลองวัดไก่เตี้ย ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 5151 ของนายบุญมากตามระหว่างที่ดินของนางสิน และนายบุญมากตลอดแนวจากทิศเหนือมาทิศใต้มีร่องน้ำ ต่อมาปี 2522 นางสินได้แบ่งแยกที่ดินขายให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ทางตอนใต้สุดขึ้นไปทางเหนือเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้สร้างกำแพงรั้วขึ้นทางสุดเขตแดนที่ดินทิศตะวันออกจากมุมทิศใต้สุดของที่ดินจำเลยที่ 1 ขึ้นไปทางทิศเหนือสุดที่ดินจำเลยที่ 3 ปี 2527 นางสินได้แบ่งแยกที่ดินขายให้จำเลยที่ 4 ต่อจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ขึ้นมาทางทิศเหนือและจำเลยที่ 4 ก็ได้สร้างกำแพงรั้วทางด้านทิศตะวันออกต่อจากกำแพงรั้วของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขึ้นไปจนสุดเขตแดนทางทิศเหนือ ที่ดินของนางสินยังคงเหลืออยู่ทางทิศเหนือของที่ดินจำเลยที่ 4 อีกประมาณ 1 ไร่เศษ วันที่ 19 กรกฎาคม 2527นายบุญมากได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5151 ของตนให้แก่นายสุวัฒน์ หลังจากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2527นายบุญมากได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 5151 โดยนำชี้เขตที่ดินด้านทิศตะวันตกเข้ามาจนถึงกำแพงรั้วของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 จึงคัดค้านว่าที่ดินของนายบุญมากด้านทิศตะวันตกติดกับร่องน้ำซึ่งเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ เขตที่ดินไม่ถึงกำแพงรั้วของจำเลยที่ 4นายบุญมากและจำเลยที่ 1 ไม่อาจตกลงกันได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงให้นายบุญมากไปดำเนินคดีต่อศาลภายใน 90 วัน แต่นายบุญมากไม่ได้นำคดีขึ้นฟ้อง และได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5151ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในวันที่ 30 มกราคม 2528 ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ที่ 2ได้ทำการถมที่ดินเพื่อสร้างทาวน์เฮ้าส์จำหน่ายโดยถมดินเขามาจนถึงกำแพงรั้งของจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองและนายสุวัฒน์เป็นคดีต่อศาลแพ่งหมายเลขคดีดำที่ 5102/2531 กล่าวหาว่ากระทำละเมิดทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 โจทก์ที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลง ๆตามที่ทำสัญญาไว้กับโจทก์ที่ 2 แต่ไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต จึงเลื่อนไปทำการรังวัดใหม่ในวันที่ 17มิถุนายน 2530 แต่จำเลยทั้งสี่ได้คัดค้านว่าแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่ 1 ด้านทิศตะวันตกติดร่องน้ำซึ่งเป็นลำรางหรือลำกระโดงสาธารณประโยชน์เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกโจทก์ที่ 1และจำเลยทั้งสี่ไปตกลงกัน แต่ไม่อาจตกลงกันได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงให้โจทก์ที่ 1 ไปดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ภายใน 90 วันมิฉะนั้นจะยกเลิกการรังวัด แต่โจทก์ทั้งสองดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่เมื่อพ้น 90 วันแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่าร่องสวนระหว่างที่ดินของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสี่เป็นลำรางหรือลำกระโดงสาธารณประโยชน์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าร่องน้ำระหว่างที่ดินของจำเลยทั้งสี่และโจทก์ที่ 1 เป็นร่องสวนเดิมที่ขุดขึ้นเพื่อนำน้ำจากคลองวัดไก่เตี้ย เข้ามาใช้ทำสวนระหว่างที่ดินทั้งสอง หาใช่ลำรางหรือลำกระโดงสาธารณประโยชน์ไม่
ปัญหาต่อไปว่าการที่จำเลยทั้งสี่ไปคัดค้านการรังวัดของโจทก์ที่ 1 เป็นเท็จต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากนายบุญมากว่าเคยเห็นจำเลยที่ 1สูบน้ำจากร่องสวนเข้าไปใช้ในบ้านแสดงว่าทั้งก่อนและหลังที่จำเลยทั้งสี่ได้ซื้อที่ดินจากนางสิน ร่องสวนนั้นยังมีสภาพใช้น้ำได้ดีและร่องสวนนี้มีมานานหลายสิบปี เมื่อนายบุญมากขอรังวัดสอบเขตที่ดิน จำเลยที่ 1 ก็คัดค้านว่าเป็นลำรางหรือลำกระโดงสาธารณประโยชน์ และไม่อาจตกลงกับนายบุญมากได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงให้นายบุญมากไปดำเนินคดีต่อศาลภายใน 90 วันแต่นายบุญมากก็ไม่ดำเนินคดีต่อศาลกลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 เข้าไปถมที่ดินจนถึงกำแพงรั้วของจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ก็ฟ้องคดีกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองและนายสุวัฒน์กระทำละเมิดถมดินปิดลำรางหรือลำกระโดงสาธารณะที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางระบายน้ำจากบ้านจำเลย ทั้งยังได้ฟ้องคดีอาญากล่าวหาผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลับทั้งเมื่อโจทก์ที่ 1 นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันก็คัดค้านเช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 1 เคยคัดค้านการรังวัดของนายบุญมากมาก่อนแล้ว ถึงแม้นางสิน จะเคยบอกให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าร่องสวนนั้นแบ่งครึ่งกันระหว่างที่ดินนางสินและนายบุญมากก็ตาม แต่จากสภาพของร่องสวนที่มีมานานหลายสิบปี อีกทั้งจากการที่จำเลยที่ 1ตรวจสอบหลักเขตที่ดินของนายบุญมากตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้คือ หลักที่ น.61367 กับหลักเขตที่ดินเดิมของนางสินตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ หลักที่ ก.77837 เขตที่ดินติดต่อกันแต่หลักเขตต่างกัน ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินยังแจ้งว่าหลักทั้งสองห่างกัน 3.16 เมตร ย่อมทำให้บุคคลธรรมดาที่มิใช่เจ้าพนักงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ย่อมเข้าใจว่าระหว่างที่ดินทั้งสองมีช่องว่างอยู่ ประกอบกับสภาพที่ดินเป็นร่องสวนที่มีมานานน่าจะเป็นร่องน้ำสาธารณประโยชน์ได้ การที่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้คัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเสียหายโดยตรง จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ทั้งสอง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับค่าเสียหายต่อไป
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้นเห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นเพียงผู้จะซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ทำการรังวัด แต่โจทก์ที่ 2 ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในฐานที่จำเลยทั้งสี่ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย มิได้ฟ้องคดีโดยอาศัยการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ก่อละเมิดให้ตนต้องได้รับความเสียหายได้ หาจำเป็นจะต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสี่มาก่อนไม่ โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง
แต่ที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่นั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ดำเนินคดีต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนด เจ้าพนักงานที่ดินจึงยกเลิกการรังวัดที่ดินไป มิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องมีการดำเนินการต่อไปภายหลังมีคำพิพากษาของศาล คำคัดค้านนั้นย่อมสิ้นสุดไปด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจจะมีคำพิพากษาตามที่โจทก์ที่ 1 ขอนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ร่องสวนติดทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยทั้งสี่เป็นที่ดินของโจทก์ที่ 1 ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share